+++ เด็กขี้อาย +++

 

“อายทำไม กล้าๆ หน่อย” อาจเป็นประโยคที่ผู้ใหญ่บอกกับเด็ก เมื่อเห็นว่าเด็กปฏิเสธจะทำกิจกรรมบางอย่างที่ผู้ใหญ่ต้องการต่อหน้าคนจำนวนมากกว่าปกติ ซึ่งแสดงได้ทั้งว่า ไม่พอใจที่เด็กไม่ทำตาม ผู้ใหญ่เองก็กำลังอายคนอื่น หรือมีความเชื่อว่า ความ “กล้า” เป็นสิ่งดี

ความอายมักเป็นของติดตัวคนมาตั้งแต่เกิดและเริ่มสังเกตได้เมื่อเด็กเข้าสังคม พ่อแม่มักจะสอนลูกให้ทำกิริยาต่างๆ เพื่อการเข้าสังคม เช่น ไหว้ บ๋ายบาย ส่งจูบ ตั้งแต่เด็กยังไม่เข้าใจความหมายของกิริยานั้นเลย เพื่อสร้างความน่าเอ็นดูให้บุตรหลานของตน แต่เมื่อเด็กอายุขวบกว่าขึ้นไป เด็กจะยิ่งมีปฏิกิริยากับคนที่ไม่คุ้นหรือคนที่เด็กรู้สึกว่าทำให้กลัว เช่น เล่นแรงๆ ถึงตัวทำให้ตกใจ โดยที่เด็กจะนิ่งเฉย หันหน้าไปพิงกับพ่อแม่ หรือบางคนซ่อนตัวไปด้านหลังพ่อแม่ไปเลย ซึ่งผู้ใหญ่และพ่อแม่ควรเข้าใจความรู้สึกของเด็ก และปรับท่าทีของตนให้เหมาะกับปฏิกิริยาของเด็ก เช่น ไม่ไปเพ่งมองเด็กอย่างมากว่าเมื่อไหร่เขาจะเล่นกับเรา ยืนห่างๆ คุยอย่างเป็นมิตรกับพ่อแม่ของเด็กสักครู่ก่อน พ่อแม่เองควรบอกกับผู้ใหญ่ที่มาทักว่าลูกกำลังปรับตัว

ในสังคมที่เน้นการแสดงออกเป็นสำคัญอย่างในปัจจุบัน เด็กจะถูกครอบครัว โรงเรียนปกติ หรือโรงเรียนพิเศษต่างๆ คาดหวังให้ขึ้นไปแสดงท่าทางการแสดงต่าง ๆที่เกินจากชีวิตปกติ บนเวทีต่อหน้าคนมากๆ อยู่บ่อยๆ ซึ่งก็จะเห็นได้ว่าเด็กบางคนสนุก บางคนเฉยๆ ก้มหน้าก้มตาทำให้จบ หรือบางคนทำไม่ได้เลย ซึ่งครูและครอบครัวควรยอมรับในสิ่งที่เด็กเป็น ไม่ดุว่า แต่อาจสร้างโอกาสเล็กๆ ให้เด็กได้แสดงออก โดยไม่มีคนจ้องมองมากๆ (พึงทราบว่าเด็กก็ไม่ได้ชอบตัวเองที่แสดงไม่ได้เท่าเพื่อน และไม่เท่าที่พ่อแม่ครูหวังเช่นกัน) แม้การเรียกให้ตอบคำถามในห้องเรียนที่จะเพื่อนถูกจ้องมองและกลัวตอบผิด อาจให้โอกาสเด็กเดินมาตอบกระซิบกับครูหรือเขียนตอบ แล้วครูนำคำตอบที่ถูกมาชมเชยอีกครั้งก็ได้

การได้แสดงออก (จากตัวตนของเขา) น่าจะสำคัญกว่าการได้แสดง”เหมือน” ที่สังคมนิยม

 

รศ. นพ. ปราโมทย์ สุคนิชย์