“ภาวะใกล้ตาย และ คุณค่าของความทรงจำ”


"การตาย และ ภาวะใกล้ตาย"(Death and Dying)
เป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์ 
เพราะ ไม่สามารถเรียกอะไรกลับคืนมาได้อีกแล้ว
การเตรียมตัวเตรียมใจ กับภาวะนี้ให้ดีที่สุด 
จึงเป็นงานที่สำคัญที่สุดของมนุษย์
ปฏิกิริยาทางจิตใจ เมื่ออยู่ในภาวะใกล้ตาย/สูญเสีย ประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอนดังนี้ 
(โดย Elizabeth Kubler Ross)
1. ปฏิเสธ ไม่ยอมรับ (Denial)
2. โกรธ (Anger)
3. ต่อรอง (Bargaining)
4. ซึมเศร้า (Depression)
5. การยอมรับ (Acceptance)
ในภาพยนตร์เรื่องนี้ 
พระเอกเป็นโรคร้าย ที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อได้อีกไม่นาน
หลังจากนั้นหนังก็พาเราเข้าไปดำดิ่งถึงสภาวะจิตใจของพระเอกที่เกิดขึ้น
แม้ภายนอก พระเอก จะไม่แสดงอารมณ์อะไร ออกมามากนัก 
ตามบุคลิกที่เป็นคนเก็บอารมณ์ ไม่ค่อยแสดงความรู้สึกออกมา
แต่ในใจ กลับเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกมากมาย
ซึ่งเป็นเรืองธรรมดาของจิตใจ เมื่อต้องอยู่ในภาวะที่ใกล้ตาย
ความรู้สึกด้านใน ย่อมสับสน และ เต็มไปด้วยความคิด ความรู้สึกหลายอย่าง
ภาพยนตร์ในเรื่องนี้ประกอบได้ด้วย 2 ส่วนที่สำคัญคือ 
1. การสูญเสีย 2. ความทรงจำ
1. การสูญเสีย
ปีศาจ ในเรื่อง เป็นตัวแทน ปฎิกิริยาทางจิตใจต่อการสูญเสียของพระเอก
- การปฏิเสธความจริงเรื่องความเจ็บป่วย 
- การต่อรอง ด้วยการ แฟนตาซี ขึ้นมาว่า ถ้าสิ่งต่างๆ หายไป จะช่วยให้เขามีชีวิตยืนยาวขึ้น
#สภาวะจิตใจของพระเอก 
ความจริงแล้ว ใจของพระเอกยังยอมรับความเจ็บป่วยไม่ได้
ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของจิตใจมนุษย์เมื่อได้รับข่าวร้าย หรือ ทราบว่าตนเองเป็นโรคร้าย หรือ
ใกล้ตาย
ปฏิกิริยาแรกทางจิตใจของทุกคน 
คือ การปฏิเสธ การไม่อยากเชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องจริง อยากให้มันเป็นแค่ความฝัน(ร้าย) ขอให้ไม่ใช่เรื่องจริง 
และ ขอให้โลกนี้มีปาฏิหารย์บางอย่าง ให้ข่าวร้าย หรือ สิ่งเลวร้ายนั้นหายไป
ในเรื่องนี้ ปีศาจ ที่เป็นตัวแทนของจิตใจพระเอก 
ที่อยากต่อรอง ขอให้เขายังไม่ตาย ขอให้เขามีชีวิตยืนยาวขึ้น 
ด้วยการเลือกให้สิ่งต่างๆ ในโลกนี้หายไปแทน
และ สิ่งที่เขาเลือกให้หายไป 
เช่น มือถือ ภาพยนตร์ นาฬิกา และ แมว
ล้วนเป็นสิ่งที่เป็นตัวแทนความทรงจำต่างๆ ในชีวิตของพระเอก 
ที่เขาอยากลืม เพราะ มันเคยทำให้เขาเจ็บปวด 
หรือ เขาเลือก เพราะ คิดว่ามันไม่ได้มีคุณค่าอะไร
2. ความทรงจำ 
พระเอกเลือกให้ มือถือ ภาพยนตร์ นาฬิกา และ แมว หายไป 
เพราะ สิ่งเหล่านี้ ล้วนเคยมีอดีตที่ทำให้เขามีความทรงจำที่เจ็บปวด
- มือถือ 
เป็นความทรงจำ ที่เจ็บปวดเรื่องแฟน
ถ้าไม่มีมือถือในโลกนี้ 
เขาจะได้ไม่ต้องเคยรู้จักกับผู้หญิงคนนี้ คนที่ทำให้เขาเจ็บช้ำ
แต่เมื่อความทรงจำเรือง แฟน หายไปจริงๆ 
เขาพบว่า เขารู้สึกเจ็บปวดกว่า
เพราะ เมื่อย้อนกลับไปจริงๆ 
เขาพบว่า เขามีช่วงเวลาที่มีความสุขมากๆ 'ในเวลาที่เขามีเธอ'
และ ความทรงจำเหล่านั้นก็มีคุณค่ากับเขามากๆ
- ภาพยนตร์
เป็นความทรงจำ เรื่องเพื่อน 
สำหรับภาพยนตร์ ที่เขาเลือกให้สิ่งนี้หายไป
เพราะ เขาคิดว่า สิ่งนี้ไม่ได้ มีความสำคัญอะไรกับเขา มากนัก
ถ้าหายไป แล้วชีวิตเขาอยู่ต่อไป น่าจะดีกว่า
แต่เมื่อสิ่งนี้หายไปจริงๆ 
เขาพบว่า จริงๆ สิ่งนี้มีคุณค่ากับเขามาก 
เพื่อนคนนี้ เป็นเพื่อนที่ดี และ รักเขา 
ซึ่งเขาละเลยไป ไม่ทันได้ สัมผัสคุณค่าของความรักเหล่านี้
- นาฬิกา 
เป็นตัวแทน ของความทรงจำที่เจ็บปวดจากการสูญเสียหลายเรื่อง
เช่น เรื่องไม่พอใจพ่อ เรื่องการสูญเสียแฟน และ เหตุการณ์ที่เขาเสียเพื่อนต่างแดนไปต่อหน้าต่อตา จากอุบัติเหตุ
เขาเลือกให้สิ่งนี้หายไป 
แต่เมื่อเขาได้กลับไปทบทวนเรื่องราวที่เจ็บปวดเหล่านี้อีกครั้ง 
มันทำให้เขาเข้าใจเรื่องราวที่เจ็บปวดเหล่านี้มากขึ้น
และ เมื่อเขากลับไปเผชิญความรู้สึกที่เจ็บปวดเหล่านี้ 
และ เข้าใจความรู้สึกเหล่านี้ 
เขากลับเจ็บปวดจากมันน้อยลง
เขาได้เรียนรู้ชีวิตจากมัน
และ 'เข้าใจคุณค่าของเวลา' มากขึ้น
การหลบเลี่ยงความเจ็บปวด กลับยิ่งทำให้เจ็บปวด
การเผชิญกับมัน กลับทำให้เจ็บปวดน้อยลง
- และ สุดท้าย เรื่อง สำคัญที่สุด คือ “แมว”
แมว 
เป็นตัวแทน ของครอบครัว โดยเฉพาะ คุณแม่ 
พระเอกมีความทรงจำที่เจ็บปวดกับการสูญเสียคุณแม่ ที่จริงๆ แล้วเขายังรับไม่ได้ 
การที่แมวหายไป มันทำให้เขาคิดว่า
ถ้าไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับแม่ที่แสนดีของเขา 
เขาจะได้ไม่เจ็บปวดอีก
แต่เมื่อแมวจะหายไป จะไม่เหลือความทรงจำที่เขามีต่อแม่
มันกลับแย่ยิ่งกว่า 
“เพราะ แม่ คือ ความทรงจำที่ดีที่สุดในชีวิตของเขา”
แม่ คือ คนที่รักเขาอย่างที่เขาเป็น 
แม่คือ คนที่ทำให้เขาเห็นคุณค่าในตนเอง
การไม่มีความทรงจำเรืองแม่ กลับเป็นเรื่องที่โหดร้ายกว่า
สุดท้าย เขาเลือกให้แมวอยู่
เพราะ เขาเห็นคุณค่าของความทรงจำ
แม้มีความเจ็บปวด แต่ก็มีคุณค่าและให้พลังดีๆมากมาย
และ เมื่อเขากลับไปทบทวนความทรงจำเรื่องแม่ และ ครอบครัวอีกครั้ง 
เขากลับพบ ความรัก ความสุข คุณค่า 
รวมถึง ความเข้าใจในตัวคุณพ่อที่เขาเคยมีความเข้าใจผิด
และ 
#ในวาระสุดท้ายของเขา 
เขามีความสุข อิ่มเอิบใจ 
จากใจที่กลับมา ยอมรับ ชื่นชม และ เห็นคุณค่า (Acceptance)
:) เพราะ เขาได้มีโอกาสทำสิ่งเหล่านี้ ในวาระสุดท้าย..วาระสำคัญ :)
1.กลับมาทบทวนเรื่องราวในชีวิต 
ได้เข้าใจชีวิตมากขึ้น 
ทำให้สามารถปล่อยวางเรื่องราวต่างๆในชีวิต ที่เคยยึดติด หรือ เป็นปมในใจได้
"ความเข้าใจชีวิตมากขึ้น จะทำให้ใจมีความสงบ และ มั่นคงมากขึ้น"
2. ได้มีโอกาสจัดการแก้ไข เรืองราวบางอย่างที่ค้างคาใจ 
เช่น แฟนบอกเลิก(แบบงงๆ) เรื่องผิดใจกับพ่อ และ จดหมายสุดท้ายของแม่
การกลับมาแก้ไขเรื่องที่ค้างคาใจ ช่วยให้ใจของเขาสุขสงบขึ้น 
ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากของการเตรียมตัวในวาระสุดท้าย
"การจากไปด้วยใจที่สุขสงบ ไม่มีอะไรต้องค้างคาใจเป็นการจากไปที่ดีทีสุด"
3. ได้มีโอกาสกลับมาเห็นคุณค่าของชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมด 
ทั้งคุณค่าในตัวเอง คุณค่าในความสัมพันธ์ และ คุณค่าในครอบครัว
และ คุณค่าในการเกิดมาของเขา
เป็นความรู้สึกที่จากไปอย่างอิ่มเอม ภูมิใจ กับ คุณค่าในชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมด 
"ไม่มีอะไรที่ต้องเศร้าเสียใจอีก"
ความทรงจำที่หลายครั้งเราอยากลืม 
เพราะ มันเคยทำให้เจ็บปวดมาก 
แต่พอไม่มีความทรงจำนั้นเหลืออยู่เลย 
กลับแย่กว่า 
เพราะ ความสุข และ ความทรงจำที่ดี ที่มีคุณค่าก็หายไปด้วย
และ หลายความทรงจำก็ให้บทเรียนที่ดี ที่มีค่ากับเราอย่างมาก
และ การกลับไปพบความทรงจำที่เจ็บปวด
ยังช่วยให้เราได้ เยียวยาแผลใจได้อย่างดี 
เพราะ 
- เราได้กลับไปยอมรับมันอย่างที่เป็น 
- ได้กลับเป็นเห็นคุณค่าของสิ่งดีๆเหล่านั้น 
- และ ได้กลับไปชื่นชมมัน ซึ่งตอนแรกเราอาจหลงลืมไป 
เพราะ ตอนแรก เราอาจไป focus ตรงส่วนเจ็บปวดมากเกินไป จนไม่ทันเห็นสิ่งดีๆทีมีอยู่
และ เมือเรายอมรับ ทั้งความสุข- ความทุกข์ ความสมหวัง และ ความผิดหวัง 
เราจะรู้สึกสงบอย่างประหลาด และ รู้สึกเต็มอิ่ม และ ได้รับพลังใจดีๆ กลับมาค่ะ :)
พระเอกในเรื่องนี้โชคดี 
ที่มีโอกาสได้ทบทวนเรื่องราวชีวิตทีติดค้าง 
และ ได้มีโอกาสได้ไปแก้ไขจัดการเรื่องราวที่ค้างคาใจ ก่อนตาย 
ทำให้เขาได้จากไปด้วย 'หัวใจที่มีรอยยิ้ม ของความสุข อิ่มเอม และ ความสงบ'
แต่เรา ในวาระสุดท้าย อาจไม่โชคดี เหมือนพระเอกในเรื่องนี้ 
ที่มีโอกาสกลับไปแก้ไขเรื่องราวในจิตใจต่างๆก่อนวาระสุดท้าย..วาระสำคัญ
ดังนั้น ขณะที่ยังมีชีวิต 
ควรใช้ทุกเวลาที่มีอย่างดีทีสุด 
ใช้ชีวิตในแต่ละวัน ให้เหมือนวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต 
ฝึกอยู่อย่างยอมรับ ฝึกอยู่อย่างเข้าใจชีวิต 
ให้เวลาในการดูแลตนเอง และ คนรอบข้างให้ดีทีสุด
เพื่อที่ถ้าวันสุดท้ายมาถึง จะได้ไม่ต้องรู้สึกค้างคาใจ หรือ รู้สึกเศร้าเสียใจ กับอะไร