ประวัติความเป็นมา

ประวัติสาขาวิชาศัลยศาสตร์เต้านมและต่อมไร้ท่อ
     ประวัติความเป็นมาโรคเต้านมและต่อมไร้ท่อ เดิมดำเนินการภายใต้หน่วยศัลยศาสตร์ทั่วไปสายเอและสายบี ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในปัจจุบันการรักษาโรคเต้านมและต่อมไร้ท่อ มีความซับซ้อนและก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้การดูแลรักษา การศึกษาและการวิจัยต้องอาศัยทีมที่มีความชำนาญเฉพาะโรคมากขึ้น อีกทั้งเพื่อเป็นศูนย์ความรู้และข้อมูลเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษา การวิจัยและการรักษาพยาบาล และเป็นการตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ในการที่จะเป็นคณะแพทย์ชั้นนำ ในภูมิภาคเอเชียและเป็นประทีปส่องทาง ภาควิชาศัลยศาสตร์จึงดำเนินการแยกหน่วยต่างๆ ออกจากศัลยศาสตร์ทั่วไปสายเอและบี ซึ่งปัจจุบันดำเนินงานภายใต้ชื่อสาขาวิชาศัลยศาสตร์เต้านมและต่อมไร้ท่อ

1. พันธกิจหลัก

มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งในสตรีที่พบเป็นอันดับสองในประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นไปตามลักษณะสังคมที่เปลี่ยนไปเป็นสังคมเมืองมากขึ้น จนปัจจุบันถือว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมใหม่มีมากกว่าปีละ 500 ราย ในขณะที่มะเร็งปากมดลูกเป็นอันดับที่สองพบเพียง 250 ราย การแข่งขันของคณะแพทย์ในเรื่องมะเร็งเต้านมในสามลำดับแรกของประเทศไทยคือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี การรักษาด้วยการผ่าตัดคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สามารถทำได้ครบทุกวิธีการรักษาใหม่ๆ เช่น การหาต่อมเซนติเนล การทำผ่าตัดแบบ onco-plastic surgery ในขณะที่คณะแพทย์หลายแห่งยังไม่ได้เริ่มทำหรืออยู่ในช่วงเริ่มต้น ดังนั้นการมีหน่วยงานเฉพาะโรคจักทำให้เกิดความก้าวหน้าด้านการรักษา การวิจัยโรคเต้านมเป็นไปอย่างก้าวกระโดด โรคต่อมไร้ท่อการรักษาด้วยการผ่าตัดมีความซับซ้อนขึ้น เช่น เนื้องอกของต่อมพาราธัยรอยด์เป็นโรคที่พบไม่บ่อย ปัจจุบันมีการตรวจพบมากขึ้นโดยอายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อ การผ่าตัดมีแนวโน้มการทำแบบ minimal invasive surgery มากขึ้น ทั้งต่อมธัยรอยด์ พาราธัยรอยด์ ต่อมหมวกไต และตับอ่อน ทำให้แพทย์ที่ทำการดูแลโรคเหล่านี้ต้องมีความชำนาญมากกว่าศัลยแพทย์ทั่วไป ปัจจุบันในคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สามารถทำการผ่าตัดแบบ minimal invasive ได้ครบทั้ง full endoscopic , video-assisted หรือ mini-incision

2. อัตรากำลัง

สาขาวิชาศัลยศาสตร์เต้านมและต่อมไร้ท่อ ประกอบด้วยบุคลากรทั้งหมด 9 ท่าน มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 1. อาจารย์แพทย์ จำนวน 7 ท่าน 2. อาจารย์พิเศษ จำนวน 1 ท่าน 3. เลขานุการ จำนวน 1 ท่าน