โรคไอกรน

โรคไอกรน

โรคไอกรน

“โรคไอกรน” เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Bordetella pertussis โรคไอกรนก่อให้เกิดการไออย่างรุนแรงต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์ โดยเฉพาะในเด็กทารกและเด็กเล็กจะมีความรุนแรงมาก โดยจํานวนผู้ป่วยโรคไอกรนได้ลดลงอย่างมากหลังจากเริ่มมีการใช้วัคซีนไอกรน แต่ในระยะหลังจํานวนผู้ป่วยโรคไอกรนได้เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ

สําหรับข้อมูลในประเทศไทยพบว่าอุบัติการณ์ของโรคไอกรนค่อนข้างต่ำ

โรคไอกรน

ข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังของสํานักระบาดวิทยาตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2556 รายงานว่า พบผู้ป่วยโรคไอกรน จํานวน 22 ราย หรือคิดเป็นอัตราป่วย 0.03 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งคาดว่าข้อมูลในประเทศไทยที่มีรายงานน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงมาก เนื่องจากการไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง พญ.ปิยรัชต์ สันตะรัตติวงศ์ ได้ทําการศึกษาที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี พบว่า ผู้ป่วยเด็กที่มีอาการไอเป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน ที่ไม่ใช่เป็นวัณโรคและโรคหืด ตรวจพบเชื้อไอกรนถึงร้อยละ 19

อาการของโรคไอกรนแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะคือ

  1. ระยะต้น ผู้ป่วยจะมีอาการนําามูกไหล แน่นจมูก ไอเล็กน้อยเหมือนอาการหวัด ระยะนี้อาจเป็นอยู่นานประมาณ 1-2 สัปดาห์
  2. ระยะรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการไอรุนแรงติดกันไม่มีจังหวะพักตั้งแต่ 5 ครั้งขึ้นไปและเมื่อจบชุด ผู้ป่วยจะพยายามหายใจเข้าอย่างแรง จนเกิดเสียงดังฮู้ปขึ้น ในเด็กเล็กอาจมีอาการเขียวได้เนื่องจากอาการไอรุนแรงมาก  ผู้ป่วยส่วนมากมีอาการอาเจียนร่วมด้วยหลังการไอ ผู้ป่วยบางรายอาจมีเลือดออกในตาขาวและมีจุดเลือดออกกระจายอยู่บริเวณใบหน้าและลําตัวท่อนบน อาการในระยะนี้จะเป็นอยู่นานประมาณ 10 วันถึง 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นนานถึง 2-6 สัปดาห์
  3. ระยะฟื้นตัว อาการไอจะค่อยๆ ทุเลาและหายไปในเวลา 6-10 สัปดาห์ อาการไอแต่ไม่รุนแรงอาจคงอยู่เป็นเวลาหลายสัปดาห์

ภาวะแทรกซ้อนที่สําคัญที่บางครั้งอาจมีความรุนแรงถึงแก่ชีวิต ได้แก่ ภาวะแทรกซ้อนทางระบบทางเดินหายใจ ซึ่งพบได้บ่อย โดยเฉพาะปอดอักเสบและปอดแฟบ นอกจากนั้นยังอาจพบภาวะแทรกซ้อนทางสมอง ผู้ป่วยอาจมีอาการชัก เกร็ง หรือซึมลงได้

การรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะจะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ โดยเฉพาะถ้าให้ในระยะแรก แต่ถ้าให้หลังจากผู้ป่วยมีอาการไอแล้วอาจไม่ค่อยมีผลต่อการดําเนินโรค แต่ก็ยังแนะนําเพื่อลดการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น ยาที่แนะนําให้ใช้ได้ ได้แก่ erythromycin, azithromycin หรือ clarithromycin  ซึ่งยาเหล่านี้สามารถใช้ได้ทั้งเพื่อการรักษาและการป้องกันในผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไอกรน

การป้องกันโรคไอกรน

การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การให้วัคซีน วัคซีนป้องกันไอกรนจะให้โดยการฉีดที่อายุ 2, 4, 6, 18 เดือน และกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 4-6 ปี วัคซีนไอกรนนี้จัดเป็นวัคซีนพื้นฐานซึ่งเด็กทุกคนต้องได้รับ วัคซีนไอกรนที่เป็นวัคซีนพื้นฐานนี้เป็นชนิดเต็มเซลล์ อยู่ในรูปของวัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน มีประสิทธิภาพดีในการป้องกันโรค แต่อาจมีปัญหาเรื่องของผลข้างเคียง เช่น อาการปวด บวม แดง ในตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ ร้องกวน ซึม เบื่ออาหาร อาเจียน และมีผื่นได้ บางรายมีอาการร้องกวนไม่หยุดเป็นเวลานาน และอาการทางระบบประสาท วัคซีนไอกรนที่เป็นวัคซีนทางเลือกอีกชนิดหนึ่งเป็นชนิดไม่มีเซลล์ ซึ่งจะพบผลข้างเคียงต่างๆ น้อยกว่าวัคซีนไอกรนชนิดเต็มเซลล์  วัคซีนไอกรนชนิดไม่มีเซลล์นี้อยู่ในรูปของวัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนเช่นเดียวกัน และยังอาจรวมกับวัคซีนอื่นๆ ที่เป็นวัคซีนทางเลือกที่ให้ในช่วงอายุเดียวกันได้ เช่น โปลีโอ ตับอักเสบบี และวัคซีนป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบ

ในเด็กโตอายุ 10-12 ปี สามารถรับวัคซีนป้องกันคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เช่นเดียวกันแต่วัคซีนที่ใช้จะเป็นชนิดที่ต่างกับวัคซีนที่ใช้ในเด็กเล็ก  เด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนไอกรนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันหลังจากอายุ 10-12 ปี ก็สามารถรับวัคซีนนี้ได้เช่นกันจําานวน 1 ครั้ง หลังจากนั้นแนะนําให้ฉีดวัคซีนคอตีบ-บาดทะยักกระตุ้นซ้ำทุกๆ 10 ปี

ในเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือนซึ่งยังได้รับวัคซีนไม่ครบ 3 ครั้ง ระดับของภูมิคุ้มกันอาจไม่เพียงพอในการป้องกันโรค เมื่อสัมผัสกับผู้ป่วยก็อาจมีอาการได้ ปัจจุบันแนะนําให้ฉีดวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนสําหรับผู้ใหญ่ จํานวน 1 ครั้ง แก่หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ระหว่าง 27-36 สัปดาห์ เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์สร้างภูมิคุ้มกันต่อไอกรนในระดับที่สูงและสามารถให้ภูมิคุ้มกันนี้ผ่านไปยังทารกในครรภ์และป้องกันโรคไอกรนได้

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ชนเมธ เตชะแสนศิริ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ติดตามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่

นิตยสารวาไรตี้เพื่อสุขภาพ @Rama ฉบับที่ 12 คลิก

AtRama.mahidol.ac.th