ฟันผุเสี่ยงต่อโรคหัวใจ

ฟันผุเสี่ยงต่อโรคหัวใจ

ฟันผุเสี่ยงต่อโรคหัวใจ

ฟันผุเสี่ยงต่อโรคหัวใจ

     “ฟัน” นับเป็นอีกอวัยวะหนึ่งที่สำคัญของร่างกายที่ต้องหมั่นดูแลรักษาให้มีความแข็งแรง เพราะนอกจากจะช่วยในการบดเคี้ยวอาหารแล้ว ฟันยังมีส่วนสำคัญในการพูด ช่วยในการออกเสียง รวมทั้งยังมีส่วนช่วยสร้างเสริมสุขภาพสร้างรอยยิ้มที่ชวนประทับใจ

     เมื่อฟันป่วย ก็คงจะมีผลต่อความมั่น ใจอย่างมากทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ฟันผุ”

     ยิ่งพบฟันผุ แม้จะเป็นเพียงรอยผุเล็ก ๆ ไม่มีอาการปวดหรือ เสียวฟันก็ไม่ควรละเลย นิ่งนอนใจ ควรรีบพบทันตแพทย์เพื่อรับการรักษาก่อนที่จะลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง เพราะฟันผุสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย รวมทั้งยังเกิดในเด็กทารกได้ด้วย โดยหลังจากการดูดนม ควรมีการดูดนํ้าตามเพื่อทำความสะอาดคราบนํ้าตาลที่ติดตามฟัน เพราะนํ้าตาลในนมสามารถทำให้เกิดฟันผุได้ ส่วนเด็กในวัยเรียนก็มักจะชอบรับประทานขนมหวาน ลูกอม ขนมขบเคี้ยว ก็ทำให้เกิดฟันผุ สำหรับช่วงวัยรุ่นและวัยทำงานพอเติบโตขึ้นการทานขนมเหมือนกับวัยเด็กก็จะลดลง ฟันผุก็ลดลงกว่าเด็ก แต่ในกลุ่มผู้ใหญ่จะพบโรคเหงือกมากขึ้น ซึ่งถ้าไม่รักษาก็จะลุกลามกลายเป็นโรคเหงือกอักเสบได้

     ฟันที่ผุจะเริ่มจากรูเล็ก ๆ หากปล่อยทิ้งไว้นิ่งนอนใจไม่รีบไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการรักษา ก็จะกลายเป็นรอยผุที่ขยายใหญ่ขึ้นและอาจลุกลามไปถึงโพรงประสาทฟัน ทำให้เกิดการอักเสบขึ้น โดยเชื้อโรคจะลุกลามไปที่รากฟัน เกิดหนองส่งผลเสียต่ออวัยวะสำคัญข้างเคียง ไม่ว่าจะเป็น ตา โพรงไซนัส และสมอง

     อาการปวดฟันจากฟันผุ หากปล่อยให้ลุกลามจะมีอาการปวดเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เชื้อโรค จะแพร่กระจายตามกระแสเลือดไปตามอวัยวะต่าง ๆ ที่สำคัญ อย่างเช่น ส่งผลเสียต่อโรคหัวใจ จากที่มีการตรวจพบเชื้อโรคที่ทำให้เกิดฟันผุ “สเตร็ปโตคอคคัส” ซึ่งเป็นเชื้อชนิดเดียวที่ตรวจพบที่เยื่อบุหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจอักเสบ ดังนั้น จึงมีการตื่นตัวในการป้องกันรักษาสุขภาพฟัน เพื่อไม่ให้โรคฟันผุไปทำให้โรคหัวใจทวีความรุนแรงขึ้นหรือมีผลเสียต่อโรคหัวใจ

     แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องมีความเข้าใจกันก่อนว่า โรคหัวใจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ แม้ว่าจะมีการศึกษาติดตาม แต่ในทางวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันข้อมูลรับรองว่าฟันผุทำให้เกิดโรคหัวใจได้หรือไม่ แต่พบว่ามีผลเสียต่อโรคหัวใจ เมื่อใดที่มีเลือดออกในช่องปาก เชื้อแบคทีเรียในช่องปากจะสามารถเข้าไปในกระแสเลือดได้ และเมื่อผู้ป่วยโรคหัวใจมีอาการปวดฟันมาเข้ารับการรักษา อาจต้องให้ผู้ป่วยรับประทานยาปฏิชีวนะก่อนการทำฟันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

     ในขณะที่ฟันมีหน้าที่สำคัญทั้งในเรื่องการบดเคี้ยวอาหาร ช่วยระบบการย่อยอาหาร หากมีฟันผุหรือสูญเสียฟันไปก็จะบดเคี้ยวอาหารได้ไม่ละเอียดพอ เมื่อทานอาหารไม่ได้ ร่างกายก็จะไม่ได้รับสารอาหารสิ่งที่เป็นประโยชน์ ส่งผลให้สุขภาพทรุดโทรมลง การดูแลรักษาถูกวิธีจึงมีความสำคัญช่วยให้ฟันคงอยู่กับเรายืนยาว ก่อนต้องเผชิญกับฟันผุมีวิธีในการดูแลฟันโดยมีหลักใหญ่อยู่ 3 ประการคือ เมื่อทราบสาเหตุของการเกิดขึ้นของฟันผุว่าเกิดจากนํ้าตาล จึงควรแปรงฟันให้สะอาดถูกวิธี ต่อมาคือ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และควรตรวจฟันทุก 6 เดือน

     สำหรับการแปรงฟันให้สะอาด วิธีการแปรงฟันต้องแปรงให้ถึงซอกฟัน แปรงฟันให้นานพอและถูกวิธี และแปรงฟันให้ได้อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง แต่ถ้าสามารถแปรงฟันได้หลังมื้ออาหารทุกครั้งก็จะดีที่สุด อีกทั้งการเลือกแปรงสีฟันควรเลือกแปรงขนอ่อน เวลาที่แปรงฟันก็ควรแปรงในลักษณะหมุนให้ขนแปรงซอกซอนไปตามร่องเหงือก แล้วปัดขนแปรงออกจากตัวฟัน

     เมื่อฟันผุส่งผลเสียต่อร่างกายแบบนี้แล้ว ก็ควรหันมาใส่ใจปัญหาช่องปากกันให้มากเข้าไว้ เพื่อจะได้มีฟันไว้ใช้งานได้นาน ๆ.

ขอบคุณข้อมูลจาก ทันตแพทย์หญิงนฤมล ทวีเศรษฐ์
งานทันตกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล