บาดทะยักภัยใกล้ตัวพบมากในผู้สูงอายุ

บาดทะยักภัยใกล้ตัวพบมากในผู้สูงอายุ

บาดทะยักภัยใกล้ตัวพบมากในผู้สูงอายุ

บาดทะยักภัยใกล้ตัวพบมากในผู้สูงอายุ

          หลายคนที่มักเกิดบาดแผลบริเวณแขน ขา หรือลำตัว มักเกิดอาการกังวลถึงเรื่องโรคบาดทะยักที่อาจเกิดขึ้นบริเวณแผลดังกล่าว ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าปัจจุบันโรคบาดทะยักจะมีวัคซีนป้องกัน แต่ก็คงยังพบผู้ป่วยอยู่เรื่อยๆ และมีแนวโน้มว่าจะพบในผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อว่า ในผู้ป่วยบางราย เพียงแค่โดนเข่งบาดมือ ก็เป็นโรคบาดทะยักได้

          ผศ.น.พ.สุพจน์ ตุลยาเดชานนท์ หน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า บาดทะยักเป็นโรคติดเชื้อ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในดิน ในสิ่งแวดล้อม ชื่อ คลอสทริเดียม เตตตาไน (Clostridium tetani) เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล โดยเฉพาะบาดแผลที่เจาะลึกเข้าไปในผิวหนัง เช่น ตะปูตำ เสี้ยนไม้ตำ นอกจากนี้อาจพบการติดเชื้อในคนไข้ทำแท้งเถื่อนที่ใช้เครื่องมือไม่สะอาด รวมถึงคนที่ฉีดยาเสพติด โดยการใช้เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาด

          เมื่อเชื้อบาดทะยักเข้าไปในบาดแผลแล้วจะสร้างสารพิษท็อกซิน ซึ่งสารพิษดังกล่าวจะไปจับกับเส้นประสาท เชื้อจะลามไปตามเส้นประสาท สู่ไขสันหลัง และอาจไปถึงก้านสมองบางส่วน ประมาณ 3 วันถึง 3 สัปดาห์คนไข้จะแสดงอาการ โดยเฉลี่ยประมาณ 1 สัปดาห์

          โรคบาดทะยักยิ่งเกิดอาการเร็วก็ยิ่งน่ากลัว เริ่มแรกคนไข้จะมีอาการปวด คล้ายปวดกล้ามเนื้อ จากนั้นจะเริ่มมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายเป็นระยะๆ อ้าปากไม่ได้ คอเกร็ง หลังเกร็ง หรือบางคนอาจมีอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น เหงื่อแตก หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ บางคนเกร็งรุนแรงจนกล้ามเนื้อสลายตัว หรือจนถึงขั้นกระดูกหักก็มี

          การเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย โดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่ช่วยหายใจ ทำให้หายใจไม่ได้ และอาจทำให้คนไข้เสียชีวิตได้ โดยคนไข้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเพราะติดเชื้อแทรกซ้อน หรือบางคนมีระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติ แต่ถ้าคนไข้ได้รับการดูแลรักษาอย่างดี มาพบแพทย์ทันเวลา 70-80% ก็สามารถหายเป็นปกติได้ แต่มีส่วนหนึ่งที่เสียชีวิตทั้งที่แพทย์รักษาจนสุดความสามารถแล้ว

          น.พ.สุพจน์ กล่าวต่อว่า การรักษานั้น จะให้ยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อลดอาการเกร็ง ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อที่แผล รวมทั้งให้วัคซีนให้ภูมิคุ้มกัน เพราะเมื่อเชื้อบาดทะยักเข้าไปในเส้นประสาทแล้ว คนไข้คงสร้างภูมิคุ้มกันเองไม่ทัน ต้องเอาภูมิคุ้มกันที่สร้างแล้ว มาฉีดให้คนไข้ ขณะเดียวกันก็นำวัคซีนบาดทะยักที่ฉีดให้กับคนไข้ทั่วไปมาฉีดพร้อมกันด้วย เพื่อกระตุ้นให้เขาสร้างภูมิคุ้มกันเอง จะเป็นวิธีช่วยผ่อนหนักเป็นเบา ซึ่งในคนไข้บางรายอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจร่วมด้วย โดยคนไข้บาดทะยักต้องใช้เวลาในการดูแลรักษาประมาณ 1 เดือนอาการจะดีขึ้น และหายเป็นปกติได้

          หากจะบอกให้ป้องกันไม่ให้เป็นแผลนั้นก็คงยาก ดังนั้น ก็ควรระมัดระวังอย่าให้มีบาดแผล หรือไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปในแผล หรือในกรณีที่เกิดเป็นแผลขึ้นมาแล้ว ก็ควรที่จะล้างแผลให้สะอาด แล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นบาดทะยักหรือไม่จะได้ทำการรักษาต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก ผศ.น.พ.สุพจน์ ตุลยาเดชานนท์ หน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี