อาการทางผิวหนังในโรคไข้เลือดออก

อาการทางผิวหนังในโรคไข้เลือดออก

อาการทางผิวหนังในโรคไข้เลือดออก

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีการกล่าวถึงการระบาดของโรคไข้เลือดออกกันมาก และประชาชนให้ความสนใจ ตื่นตัวกันเป็นอย่างดี ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะคิดว่า โรคไข้เลือดออกมีอาการเพียงแค่ มีไข้และมีเลือดออก แต่แท้จริงแล้ว ไข้เลือดออกยังมีอาการแสดงทางผิวหนังได้ด้วย คอลัมน์ Beauty-Full ฉบับนี้ จึงขอกล่าวถึงอาการทางผิวหนังที่พบในผู้ป่วยไข้เลือดออก มาติดตามกันได้เลยครับ

โรคไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ (Dengue  Virus) ทำให้ผู้ที่ได้รับเชื้อเกิดอาการได้ 3 ชนิด แบ่งตามความรุนแรงของการติดเชื้อ ได้แก่ ไข้เด็งกี่ธรรมดา ไข้เด็งกี่ชนิดเลือดออก และไข้เด็งกี่ช็อค ไวรัสเด็งกี่ติดต่อได้จากการถูกยุงลายกัด ซึ่งเชื้อไวรัสในยุงลายจะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยภายหลังร่างกายได้รับเชื้อประมาณ 3-14 วัน อาการที่พบได้แก่ ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ

อาการทางผิวหนังที่พบ ในโรคไข้เลือดออก ได้แก่ อาการผิวหนังแดงบริเวณใบหน้า ลำคอ และหน้าอก สามารถพบได้ราว 50-80% ของผู้ป่วย ซึ่งเกิดจากการที่มีหลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัว อาการนี้มักพบได้ในช่วง 24-48 ชั่วโมงแรกของการเจ็บป่วย อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวไม่ได้จำเพาะต่อโรคไข้เลือดออกเท่านั้น แต่ยังอาจพบในโรคการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น และแบคทีเรียบางชนิดได้ เช่น ไข้ดำแดง

อาการทางผิวหนังในโรคไข้เลือดออก

ผื่นอีกชนิดหนึ่งของโรคไข้เลือดออก นั่นคือ ผื่นปื้นแดงคล้ายหัด ผื่นชนิดนี้จะพบได้ราว 3-5 วัน ภายหลังจากผื่นชนิดแรกหายไป ผื่นชนิดนี้มักเริ่มที่หลังมือ หลังเท้า ซึ่งกระจายไปยังแขน ขา และลำตัวในภายหลัง แต่มักไม่พบที่บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า อาจพบจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายแทรกตามผื่นแดงด้วย นอกจากนี้ยังพบผื่นวงสีขาวแทรกอยู่ในผื่นปื้นแดงอีกที ทำให้ดูคล้าย “เกาะสีขาวในทะเลสีแดง” เชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายกำลังจัดการกับเชื้อ อย่างไรก็ตาม ผื่นชนิดนี้ไม่เพียงพบได้ในโรคไข้เลือดออกเท่านั้น แต่ยังสามารถพบได้ในผู้ที่มีการติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสชิคุนกุนยา (Chikungunya Virus) ได้ด้วย ผื่นชนิดนี้ส่วนมากไม่มีอาการ แต่อาจพบอาการคันตามผิวหนังเพียงเล็กน้อยได้ประมาณ 16-27% ของผู้ป่วย ภายหลังผื่นหายจะกลายเป็นผิวปกติ ไม่ค่อยทิ้งรอยดำหรือแผลเป็น อาจพบอาการผิวหนังลอกเป็นขุยได้เพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ ผื่นชนิดแรกและชนิดที่สองนี้ไม่จำเป็นต้องพบทั้งคู่

ในบางรายจะพบผื่นลักษณะเป็นจ้ำเลือดร่วมด้วย ซึ่งอาจพบเป็นจุดเล็กๆ หรือปื้นใหญ่ ซึ่งเป็นตัวบอกว่าเกล็ดเลือดในร่างกายต่ำลง ผื่นจ้ำเลือดนี้จะพบในไข้เด็งกี่ชนิดเลือดออกและไข้เด็งกี่ช็อค แต่ไม่พบในไข้เด็งกี่ธรรมดา

อาการทางเยื่อบุ เช่น เยื่อบุตา เยื่อบุในช่องปาก มักพบในไข้เด็งกี่ชนิดเลือดออกและไข้เด็งกี่ช็อคมากกว่าไข้เด็งกี่ธรรมดา อาการที่พบได้แก่ ตาแดงที่เยื่อบุตาขาวและบริเวณตาขาว อาจพบตุ่มน้ำและรอยถลอกที่เพดานปาก รวมทั้งอาการแดงและแห้งเป็นขุยที่ริมฝีปากและลิ้น หากเกล็ดเลือดต่ำอาจพบเลือดกำเดาออกหรือเลือดออกที่บริเวณเหงือกได้ อาการทางเยื่อบุเป็นอาการที่ไม่จำเพาะในผู้ป่วยทุกรายเช่นกัน สามารถพบการเปลี่ยนแปลงทางเยื่อบุได้ในการติดเชื้อชนิดอื่นได้ด้วย

สำหรับการรักษา  ยังไม่มีการรักษาจำเพาะสำหรับอาการทางผิวหนัง ส่วนมากผื่นจะค่อยๆ หายไปได้เอง เมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถจัดการกับเชื้อไวรัสได้ โดยหากผู้ป่วยมีอาการคัน อาจรักษาด้วยการใช้ยาแก้คันชนิดรับประทาน เพื่อบรรเทาอาการคันได้

แม้ว่าอาการทางผิวหนังและเยื่อบุในโรคไข้เลือดออกสามารถพบได้บ่อยแต่ก็ไม่ใช่ลักษณะที่จำเพาะ เนื่องจากสามารถพบผื่นลักษณะเดียวกันในโรคติดเชื้อชนิดอื่นได้อีก จึงต้องอาศัยอาการอื่นประกอบ รวมทั้งการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการวินิจฉัยร่วมด้วย

 

ผู้เขียน : ผศ.นพ.วาสนภ วชิรมน หน่วยผิวหนังและเลเซอร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ติดตามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่

นิตยสารวาไรตี้เพื่อสุขภาพ @Rama ฉบับที่ 23 คลิก

AtRama.mahidol.ac.th