ทำอย่างไรหากสงสัยว่า “แพ้เครื่องสำอาง”

ทำอย่างไรหากสงสัยว่า “แพ้เครื่องสำอาง”

ทำอย่างไรหากสงสัยว่า “แพ้เครื่องสำอาง”

แพ้เครื่องสำอาง เป็นอีกหนึ่งอาการที่หลายคนประสบปัญหา โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีลักษณะผิวบอบบางแพ้ง่าย ทำให้เกิดอาการแพ้ ซึ่งจำเป็นต้องรู้วิธีการสังเกตผลิตภัณฑ์ที่ทำให้แพ้ เพื่อการปฏิบัติที่เหมาะสมหลังมีอาการ รวมถึงการเลือกผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในอนาคตให้เหมาะสมกับสภาพผิว ทั้งนี้เมื่อเลือกผลิตภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสมก็จะช่วยหลีกเลี่ยงอาการแพ้ได้

อาการแพ้เครื่องสำอาง ได้แก่ ผื่นสัมผัส (Contact dermatitis) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาการอักเสบของผิวหนังที่เกิดจากการสัมผัสกับเครื่องสำอาง จากส่วนประกอบจำพวกน้ำหอมหรือสารแต่งกลิ่น และสารกันเสียกันบูด แพ้เครื่องสำอาง ที่พบบ่อยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การระคายเคือง และการแพ้

ทำอย่างไรหากสงสัยว่า “แพ้เครื่องสำอาง”

ผื่นระคายสัมผัส เกิดจากการระคายเคือง อาจเกิดได้จากกรดผลไม้ (AHA) BHA ยารักษาสิว ผลิตภัณฑ์สครับหรือขัดหน้า ผลิตภัณฑ์กำจัดขน เป็นต้น รู้สึกแสบหรือมีอาการคัน  โดยมักจะเกิดขึ้นเร็วหรือทันทีที่ใช้

ทำอย่างไรหากสงสัยว่า “แพ้เครื่องสำอาง”

ผื่นแพ้สัมผัส ที่พบบ่อยมักเกิดจากส่วนประกอบจำพวกน้ำหอมหรือสารแต่งกลิ่น และสารกันเสียกันบูด ยาย้อมผม เป็นต้น รู้สึกคัน มีผื่นแดง หลังใช้ไปสักระยะ ใช้เวลานานกว่าการระคายเคือง

บางครั้งเครื่องสำอาง อาจก่อให้เกิดเกิดสิวลุกลามหรือรอยดำคล้ำ รอยด่าง แต่พบไม่บ่อย

วิธีรักษาอาการแพ้

หากแพ้ไม่รุนแรง ให้หยุดใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้แพ้ทันที เพราะสามารถหายได้เอง หรือถ้ามีอาการแพ้ที่รุนแรงขึ้นควรรีบพบแพทย์

วิธีสังเกตผลิตภัณฑ์ที่ทำให้แพ้

  1. สังเกตว่าอาการแพ้เกิดหลังจากเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เคยใช้มาก่อน
  2. หากอาการแพ้เกิดหลังจากเริ่มต้นใช้ผลิตภัณฑ์หลายชนิด ให้หยุดใช้ทุกอย่างแล้วค่อย ๆ เริ่มใช้ทีละ 1 อย่าง จากนั้นรอดูอาการ 1-2 สัปดาห์หลังใช้ผลิตภัณฑ์นั้น หากไม่แพ้ให้ทดสอบผลิตภัณฑ์อื่นต่อไป หรือหากมีอาการแพ้ควรหยุดใช้แบบถาวร
  3. สามารถทำการทดสอบการแพ้ที่ท้องแขน  โดยทาผลิตภัณฑ์ที่สงสัย  ขนาดเท่าเหรียญสิบ  ทาเช้า-เย็น ที่ตำแหน่งเดิม ทำซ้ำ 1-2 สัปดาห์ เพื่อสังเกตอาการ
  4. เมื่อมาพบแพทย์  แพทย์จะวินิจฉัยโดยการทดสอบทางผิวหนัง  เพื่อหาสารส่วนประกอบที่ผู้ใช้แพ้เพื่อการหลีกเลี่ยงที่ถูกต้อง

วิธีป้องกันอาการแพ้เครื่องสำอาง

  1. หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ สารที่ระคายเคืองต่อผิว น้ำหอม สารแต่งกลิ่น สี ส่วนผสมที่ไม่จำเป็นอื่น ๆ
  2. หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีสารกันบูดสารกันเสียที่แพ้

ทำอย่างไรหากสงสัยว่า “แพ้เครื่องสำอาง”

ผู้เขียน : รศ. พญ.เพ็ญพรรณ วัฒนไกร สาขาวิชาโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ติดตามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่

นิตยสารวาไรตี้เพื่อสุขภาพ @Rama ฉบับที่ 35 คลิก

AtRama.mahidol.ac.th