การใช้งานคอนแทคเลนส์

การใช้งานคอนแทคเลนส์

การใช้งานคอนแทคเลนส์

หลายคนคงรู้จัก “คอนแทคเลนส์” ว่าคือวัสดุที่ไว้สัมผัสกับดวงตา เพื่อใช้แก้ไขการมองเมื่อประสบปัญหาสภาวะต่างๆ ทางสายตา

แล้วรู้หรือไม่ว่า คอนแทคเลนส์ ทํามาจากอะไร มีการใช้งาน และดูแลรักษาอย่างไร รวมไปถึงชนิดของคอนแทคเลนส์อย่างเช่น บิ๊กอายส์ มีอันตรายจากการใช้หรือไม่ คุณหมอเกวลิน เลขานนท์ มีคําตอบให้ 

คอนแทคเลนส์  คือ แผ่นพลาสติกรูปวงกลมที่มีลักษณะบาง มีความโค้งจําเพาะ และทําจากวัสดุพลาสติกชนิดพิเศษ ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อใช้ใส่วางบนกระจกตาหรือตาดํา โดยทั่วไปวัตถุประสงค์หลักของการใช้คอนแทคเลนส์คือ ใส่เพื่อแก้ไขสายตาที่ผิดปกติ เช่น สายตาสั้น สายตายาว หรือ สายตาเอียง เช่นเดียวกันกับการใช้แว่นตา นอกจากนี้คอนแทคเลนส์ยังอาจมีประโยชน์ในการใช้รักษาโรคของกระจกตา หรือโรคของผิวหน้าดวงตาบางชนิดได้ การใช้งานคอนแทคเลนส์

ในปัจจุบันคอนแทคเลนส์ที่ใช้เพื่อแก้ไขสายตา อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามวัสดุที่ใช้ในการทําคอนแทคเลนส์ ได้แก่

  1. คอนแทคเลนส์แบบกึ่งนิ่มกึ่งแข็ง หรือที่รู้จักกันว่า “RGP (อาร์จีพี)” ซึ่งย่อมาจากคําว่า rigid gas permeable lens (ริกิด แก๊ส เพอร์เมเบิล เลนส์) คอนแทคเลนส์ชนิดนี้จะค่อนข้างแข็ง ทําจากวัสดุพลาสติกชนิดพิเศษที่สามารถทําให้ออกซิเจนจากอากาศซึมผ่านตัวเลนส์ไปสู่กระจกตาได้ในปริมาณสูง
  2. คอนแทคเลนส์แบบนิ่ม หรือที่เรียกกันว่า “Soft lens (ซอฟต์ เลนส์)” เป็นคอนแทคเลนส์ที่ทําจากวัสดุพลาสติกจําเพาะอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งมีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำสูงกว่าชนิดอาร์จีพี ทําให้ตัวเลนส์มีความนิ่มและยืดหยุ่นมากกว่า ใส่สบายกว่า และยังคงมีการซึมผ่านของออกซิเจนจากอากาศผ่านตัวเลนส์ไปยังกระจกตาได้ในปริมาณที่เพียงพอ

คอนแทคเลนส์แบบนิ่มนี้สามารถแบ่งเป็นชนิดย่อยๆ ตามคุณสมบัติในการแก้ไขสายตา ได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่ ชนิดที่ใช้ในการแก้ไขสายตาสั้นหรือสายตายาวที่เป็นตั้งแต่เด็ก ชนิดที่ใช้แก้ไขสายตาเอียง และชนิดที่ใช้เพื่อแก้ไขสายตายาวที่เป็นตามวัย นอกจากนี้ยังอาจแบ่งตาม รูปแบบการใช้งาน ได้เป็น 5 กลุ่ม คือ

การใช้งานคอนแทคเลนส์
  1. คอนแทคเลนส์รายวัน คือ ใส่ ถอด และเปลี่ยนคอนแทคเลนส์อันใหม่ทุกวัน
  2. คอนแทคเลนส์รายสัปดาห์ คือ ใส่และถอดออกทุกวัน และเปลี่ยนคอนแทคเลนส์อันใหม่ทุก 1-2 สัปดาห์
  3. คอนแทคเลนส์รายเดือน คือ ใส่และถอดออกทุกวัน และเปลี่ยนคอนแทคเลนส์อันใหม่ทุก 1 เดือน
  4. คอนแทคเลนส์รายปี คือ ใส่และถอดออกทุกวัน และเปลี่ยนคอนแทคเลนส์อันใหม่ทุกปี ซึ่งในปัจจุบันไม่ค่อยนิยมใช้ เนื่องจากการดูแลทําความสะอาดคอนแทคเลนส์ค่อนข้างยุ่งยากและต้องเข้มงวดกว่า 3 แบบแรก
  5. คอนแทคเลนส์ชนิดใส่ต่อเนื่อง คือ ใส่ต่อเนื่องโดยไม่ต้องถอดออกเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ จากนั้นถอดทิ้งแล้วเปลี่ยนอันใหม่ ซึ่งโดยปกติไม่แนะนําการใช้คอนแทคเลนส์รูปแบบนี้ เนื่องจากพบอัตราการติดเชื้อที่กระจกตาได้สูงกว่าการใช้แบบใส่และถอดออกทุกวันอย่างมาก
การใช้งานคอนแทคเลนส์

ปัจจัยสําคัญที่ควรพิจารณาก่อนการเลือกใช้คอนแทคเลนส์ คือ ความจําเป็นในการใช้คอนแทคเลนส์ เช่น มีสายตาผิดปกติ ไม่ต้องการใส่แว่นตา หรือมีปัญหาในการใช้แว่นตา  เป็นต้น โดยที่ต้องไม่มีโรคตาหรือสภาวะผิดปกติทางร่างกายที่เป็นข้อห้ามในการใช้คอนแทคเลนส์ นอกจากนี้สิ่งที่สําคัญที่สุดที่จะทําให้การใช้คอนแทคเลนส์เกิดประโยชน์และมีความปลอดภัยสูงสุดคือ การเข้าใจและการปฏิบัติตนในการใส่ ถอด และเปลี่ยนคอนแทคเลนส์ รวมถึงการดูแลรักษาคอนแทคเลนส์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ส่วนการจะเลือกใช้คอนแทคเลนส์ประเภทใดนั้นขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ระดับและชนิดของค่าสายตาที่ผิดปกติ ลักษณะสุขภาพดวงตา  สิ่งแวดล้อม และสุขนิสัยของผู้ใช้คอนแทคเลนส์ เป็นต้น

ผู้ที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้คอนแทคเลนส์

ได้แก่  ผู้ที่มีการติดเชื้อที่ดวงตาบ่อยๆ ผู้ที่มีประวัติภูมิแพ้โดยเฉพาะภูมิแพ้ที่ดวงตา ผู้ที่มีโรคตาแห้ง ผู้ที่ทํางานในสภาวะแวดล้อมที่มีฝุ่นควัน  หรือละอองสิ่งสกปรกในปริมาณมาก และผู้ที่ไม่สามารถดูแลรักษาคอนแทคเลนส์ได้อย่างถูกวิธี

การใช้งานคอนแทคเลนส์

การดูแลรักษาคอนแทคเลนส์อย่างง่าย มีดังนี้

ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนสัมผัสคอนแทคเลนส์และดวงตา ทําความสะอาดคอนแทคเลนส์ และกล่องใส่คอนแทคเลนส์  ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำยาทําความสะอาดที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอและถูกต้องตามขั้นตอน อย่าใส่คอนแทคเลนส์ตอนนอน อย่าใส่คอนแทคเลนส์ขณะว่ายน้ำ อย่าใช้น้ำประปา น้ำบาดาล น้ำเกลือที่ไม่ได้ฆ่าเชื้อ  หรือน้ำลาย  ในการล้างหรือทําความสะอาดคอนแทคเลนส์ อย่าใช้คอนแทคเลนส์ร่วมกับผู้อื่น ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์ต่อเนื่องนานเกิน 8-10 ชั่วโมงต่อวัน ควรเปลี่ยนคอนแทคเลนส์ตามระยะเวลาที่กําหนดสําหรับคอนแทคเลนส์ชนิดนั้นๆ หลีกเลี่ยงการใช้ยาหยอดตาที่ไม่ได้รับการแนะนําโดยจักษุแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในขณะใส่คอนแทคเลนส์ หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น ตาแดง เจ็บตา มีขี้ตา ตามัว ควรหยุดใสคอนแทคเลนส์ และรีบไปพบจักษุแพทยทันที

การใช้งานคอนแทคเลนส์
การใช้งานคอนแทคเลนส์

ดังที่กล่าวไปในตอนต้นว่าการใส่และการดูแลรักษาคอนแทคเลนส์อย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นหัวใจสําคัญในการใช้คอนแทคเลนส์ได้อย่างปลอดภัย หากไม่สามารถปฏิบัติได้แล้วอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจากการใส่คอนแทคเลนส์ เช่น โรคตาแห้ง เยื่อบุตาหรือกระจกตาอักเสบจากภูมิแพ้คอนแทคเลนส์ กระจกตาบวมขุ่น หรือมีเส้นเลือดงอกผิดปกติที่กระจกตาจากการที่กระจกตาขาดออกซิเจน และที่รุนแรงที่สุดคือการติดเชื้อที่กระจกตา ซึ่งอาจลุกลามเข้าไปภายในลูกตา และทําให้สูญเสียดวงตาหรือการมองเห็นไปอย่างถาวรได้

ปัจจุบันยังพบว่า นอกจากการดูแลรักษาคอนแทคเลนส์ที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว ปัญหาสําคัญที่กําาลังก่อตัวและเพิ่มจํานวนมากขึ้นเรื่อยๆ คือ การใช้คอนแทคเลนส์ชนิดบิ๊กอายส์ (Big eyes) เพื่อแก้ไขสายตาหรือเพื่อความสวยงาม ซึ่งคอนแทคเลนส์ชนิดนี้มักมีสีสันให้เลือกหลากหลาย ราคาไม่สูง และสามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายของชำ ร้านค้าทั่วๆ ไป หรือแม้แต่สั่งซื้อทางอินเตอร์เน็ต ทําให้คอนแทคเลนส์ชนิดนี้เข้าถึงได้ง่าย และเหมือนเป็นแฟชั่นตามกระแสนิยม โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียน วัยรุ่น นักศึกษา หรือคนทํางานทั่วไป อย่างไรก็ตามคอนแทคเลนส์ชนิดนี้โดยส่วนใหญ่มักเป็นคอนแทคเลนส์ที่ไม่ได้รับการรับรองโดยองค์การอาหารและยาว่ามีคุณภาพเข้าเกณฑ์มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้งานกับดวงตาได้อย่างปลอดภัย และผู้ใช้มักเลือกซื้อใส่โดยไม่ทราบถึงขนาดความโค้งของคอนแทคเลนส์ที่เหมาะสมกับกระจกตาของตนเอง ทําให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากการใส่คอนแทคเลนส์ชนิดนี้ได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อที่กระจกตา ซึ่งพบตามมาได้บ่อยกว่าปกติ

จากสถิติที่โรงพยาบาลรามาธิบดีพบว่า มีผู้ป่วยโรคกระจกตาติดเชื้อจากการใส่คอนแทคเลนส์บิ๊กอายส์เข้ารับการรักษาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้คอนแทคเลนส์ชนิดบิ๊กอายส์ เนื่องจากอาจทําให้เกิดการติดเชื้อที่กระจกตาได้เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกันกับการใช้คอนแทคเลนส์มือสอง ซึ่งอาจมีคุณภาพและความปลอดเชื้อไม่ได้มาตรฐาน และอาจนําไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ในลักษณะเดียวกัน

 

“การใส่และการดูแลรักษาคอนแทคเลนส์
อย่างถูกต้องเหมาะสม เป็น
หัวใจสําคัญ
ในการใช้คอนแทคเลนส์ได้อย่างปลอดภัย”

ผู้เขียน : พญ.เกวลิน เลขานนท์ ภาควิชาจักษุวิทยา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ติดตามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่

นิตยสารวาไรตี้เพื่อสุขภาพ @Rama ฉบับที่ 9 คลิก

AtRama.mahidol.ac.th