มาทำความรู้จักปานสตรอว์เบอร์รี่กันเถอะ

มาทำความรู้จักปานสตรอว์เบอร์รี่กันเถอะ

มาทำความรู้จักปานสตรอว์เบอร์รี่กันเถอะ

ปานสตรอว์เบอร์รี่มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Infantile hemangioma

เป็นโรคเนื้องอกหลอดเลือดชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นโรคเนื้องอกชนิดดี (ไม่ใช่มะเร็ง) ที่พบได้บ่อยที่สุดในบรรดาโรคเนื้องอกหลอดเลือดทั้งหมด โดยพบได้ประมาณร้อยละ 5 ของทารกแรกเกิดทั้งหมด เนื้องอกหลอดเลือดชนิดนี้มีการดำเนินโรคที่พิเศษเฉพาะ คือ จะเริ่มพบรอยปานตอนอายุประมาณ 2-3 สัปดาห์ โดยอาจจะเห็นเป็นจุดแดงเล็ก ๆ เหมือนตุ่มยุงกัด หรืออาจเห็นเป็นจุดของเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ ต่อมาปานจะมีการขยายใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจะมีขนาดโตที่สุดในช่วงอายุ 6-9 เดือน หลังจากนั้นก้อนเนื้องอกหลอดเลือดจะมีขนาดคงที่เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ในที่สุดก้อนจะเริ่มมีสีซีดลง และขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ ซึ่งมักพบหลังอายุ 1 ปีเป็นต้นไป โดยจะมีอัตราการเล็กลงประมาณร้อยละ 10 ต่อปี และจะเหลือรอยเป็นปื้นของเส้นเลือดฝอยขนาดเล็ก หรืออาจเหลือเป็นก้อนของพังผืดไขมันใต้ชั้นผิวหนังหากก้อนของรอยโรคตอนแรกมีขนาดใหญ่

ลักษณะของ infantile hemangioma

แบ่งเป็น 3 ลักษณะ ตามระดับความลึกของก้อนเนื้อ 

  1. ก้อนเนื้ออยู่เฉพาะชั้นตื้น  (superficial  type) จะเห็นรอยปานสีแดงสดคล้ายสตรอว์เบอร์รี่อยู่บนผิวหนัง
  2. ก้อนเนื้ออยู่ในชั้นลึก (deep type) ก้อนจะอยู่ใต้ชั้นผิวหนัง โดยจะเห็นสีของผิวหนังบนตัวก้อนจะออกเป็นสีเขียวหรือฟ้าอมเขียว เหมือนสีของเส้นเลือดที่เราเห็นตามผิวหนัง
  3. แบบผสม (mixed type) ผู้ป่วยจะมีก้อนของเนื้องอกในชั้นลึก  และด้านบนของก้อนจะเห็นรอยปานสีแดงของชั้นตื้นอยู่
มาทำความรู้จักปานสตรอว์เบอร์รี่กันเถอะ

ภาวะแทรกซ้อน

โดยปกติโรคนี้สามารถหายได้เองในช่วงระยะเวลาหนึ่งโดยไม่จำเป็นต้องให้การรักษา อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนหนึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษา เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนจากก้อนเนื้องอกร่วมด้วย ได้แก่

  1. เกิดการผิดรูปหรือการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ผิดปกติไป เช่น หากก้อนอยู่ที่เปลือกตา อาจทำให้การมองเห็นผิดปกติ ก้อนอยู่ที่ปลายจมูกอาจทำให้การเจริญของกระดูกจมูกไม่สมบูรณ์
  2. ก้อนแตกเป็นแผล  ผู้ป่วยจะมีเลือดไหลซึมออกจากก้อนและเจ็บมาก  มักเกิดกับตัวโรคที่อยู่ในตำแหน่งที่มีการเสียดสีบ่อย ๆ เช่น ริมฝีปาก คอ หรืออวัยวะเพศ
  3. ก้อนที่เกิดกับอวัยวะภายในร่างกายและส่งผลให้มีภาวะแทรกซ้อนอย่างรุนแรง เช่น ก้อนเนื้องอกหลอดเลือดในตับ โดยมักพบร่วมกับการที่มีก้อนของโรคอยู่บนผิวหนังตั้งแต่ 5 อันขึ้นไป มักทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ หรือ ก้อนในหลอดลม มักพบร่วมกับก้อนของโรคที่ผิวหนังบริเวณคาง และ คอ อาจทำให้เกิดภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ
มาทำความรู้จักปานสตรอว์เบอร์รี่กันเถอะ

การรักษา

แนะนำให้พาผู้ป่วยมาพบแพทย์ เพื่อตรวจหาว่ามีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาหรือไม่ เป้าหมายของการรักษาโรคนี้ คือ การควบคุมไม่ให้ก้อนขยายขนาดใหญ่มากจนเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยจะให้การรักษาจนกว่ารอยโรคจะเข้าสู่ระยะคงที่ ประมาณอายุ 1 – 1 ½ ปี หากยิ่งเริ่มการรักษาได้เร็ว มักจะมีผลการรักษาที่ดี โดยระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการเริ่มการรักษา คือ อายุ 1-3 เดือน ยาที่ใช้รักษาในปัจจุบัน คือ propranolol เป็นยาชนิดกิน หรือหากรอยโรคอยู่ในชั้นตื้นอย่างเดียวและขนาดไม่ใหญ่มาก อาจสามารถใช้ยา timolol ทาได้ ผลข้างเคียงของยาที่อาจพบได้ คือ ภาวะความดันโลหิตต่ำภาวะชีพจรเต้นช้า และภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

การรักษาอื่น ๆ ที่อาจใช้ร่วมกันขึ้นอยู่กับลักษณะของตัวโรคและภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยแต่ละราย ได้แก่ สเตียรอยด์ ทั้งแบบชนิดกิน ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือฉีดเข้าที่ตัวก้อนเนื้องอกหลอดเลือด มักใช้กับก้อนขนาดใหญ่ที่มีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิต การยิงเลเซอร์จะใช้ในกรณีที่ตัวก้อนแตกเป็นแผล หรือรอยที่เหลือหลังจากตัวก้อนยุบหมดแล้ว และการผ่าตัดเอาก้อนออก มักใช้ในกรณีที่ก้อนของโรคยุบหมดแล้วและเหลือเป็นก้อนพังผืดของไขมันชั้นใต้ผิวหนังแทน

ถ้ายิ่งเริ่มการรักษาได้เร็ว...    
...มักจะมีผลการรักษาที่ดี

ผู้เขียน : พญ.รัมภ์รดา เล็กวุฒิกานต์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ติดตามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่

นิตยสารวาไรตี้เพื่อสุขภาพ @Rama ฉบับที่ 34 คลิก

AtRama.mahidol.ac.th