“ยาแคปซูล” ควรกลืนทั้งเม็ดหรือแกะละลายน้ำดี?

“ยาแคปซูล” ควรกลืนทั้งเม็ดหรือแกะละลายน้ำดี?

“ยาแคปซูล” ควรกลืนทั้งเม็ดหรือแกะละลายน้ำดี?

ยาแคปซูล เป็นรูปแบบยาที่มีลักษณะของยาที่ลื่นทำให้ง่ายต่อการกลืน โดยทั่วไปมี 2 ประเภทคือ แคปซูลชนิดเปลือกแข็ง (Hard Gelatin Capsules) และแคปซูลชนิดเปลือกนิ่ม (Soft Gelatin Capsules) โดยแคปซูลชนิดเปลือกนิ่มมักใช้บรรจุยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นของเหลว เช่น วิตามินเอ วิตามินอี น้ำมันปลา เป็นต้น ส่วนแคปซูลชนิดเปลือกแข็งสามารถบรรจุตัวยาที่ไม่ใช่ของเหลว เช่น ผงยา ผงแกรนูล หรือยาเม็ดเล็ก ๆ (pellets) จึงมีการผลิตที่แพร่หลายมากกว่า

ผู้ป่วยบางท่านที่ไม่สามารถรับประทานยาแคปซูลทั้งเม็ดได้ เช่น ต้องให้อาหารทางสายยาง เด็กที่ไม่สามารถรับประทานยาเม็ดได้ อาจสามารถแกะเปลือกแคปซูลนำยามาละลายน้ำให้ผู้ป่วยได้ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าแคปซูลทุกชนิดจะสามารถแกะออกมารับประทานได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของแคปซูลและชนิดของตัวยาที่บรรจุอยู่ในแคปซูลด้วย

แบ่งตามประเภทแคปซูลออกเป็นดังนี้

  • แคปซูลชนิดที่ไม่มีฟังก์ชั่น (Non-functional capsules) เพื่อกลบรสชาติหรือกลิ่น เช่น ยาที่มีรสขม หรือมีกลิ่นแรง
  • แคปซูลชนิดที่มีฟังก์ชั่น (Functional capsules) เพื่อให้มีการปลดปล่อยตัวยาทีละน้อยแบบต่อเนื่องยาวนานเพื่อลดความถี่และเพิ่มสะดวกในการรับประทานยามักมีคำต่อท้ายชื่อทางการค้าต่าง ๆ เช่น SR (sustained-release), XR (extended-release), MR (modified-release), PL (prolonged-release), CR (controlled-release) เป็นต้น โดยแบ่งเป็น
    • แคปซูลธรรมดาที่บรรจุยาเม็ดเล็ก ๆ ที่เคลือบด้วยสารควบคุมการปลดปล่อยตัวยาอย่างช้า ๆ  จะสามารถแกะแคปซูลประเภทนี้ได้ แต่ห้ามบดเม็ดยาเล็ก ๆ (pellets) ข้างใน เพราะจะทำให้ได้รับยาขนาดสูงจนเกิดพิษได้
    • แคปซูลประเภทที่ควบคุมการปลดปล่อยโดยการเคลือบสารบนเปลือกแคปซูลจะไม่สามารถแกะเปลือกแคปซูลประเภทนี้ได้ เช่น DilantinKapseal® เนื่องจากสูญเสียการควบคุมการปลดปล่อยตัวยา

นอกจากนี้ยาบางชนิดถูกทำลายได้ง่ายจากกรดในกระเพาะอาหาร จึงมีการเคลือบสารบางอย่างเพื่อป้องกันยาถูกทำลาย หรือมีการเคลือบบนเม็ดยาเล็ก ๆ แล้วบรรจุในแคปซูลหรือเคลือบบนเปลือกแคปซูลเลยก็ได้เช่นกัน

หากแบ่งตามชนิดของตัวยาที่บรรจุอยู่ในแคปซูล

  • ยาแคปซูลที่มีพิษต่อเซลล์ เช่น ยาเคมีบำบัด ยากดภูมิ ยาต้านไวรัส ห้ามแกะแคปซูลออก เพราะตัวยามีฤทธิ์ทำาลายเซลล์คนปกติได้ ต้องระวังอย่างยิ่งหากสูดผงละอองยาเข้าไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงตั้งครรภ์อาจเกิดอันตรายกับทารกได้หากจำเป็นต้องให้ทางสายให้อาหาร ผู้ที่เตรียมยาจะต้องสวมถุงมือ รวมทั้งผูกผ้าปิดปากปิดจมูกด้วย
  • ยาแคปซูลที่ใช้ปริมาณตัวยาน้อยมากในการรักษา การแกะแคปซูลออกอาจมีการสูญหายในระหว่างเตรียมยาทำให้ได้ตัวยาไม่เพียงพอการรักษาทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาลดลงได้

ดังนั้น แนะนำให้กลืนยาทั้งแคปซูลมากกว่าแกะเปลือกแคปซูลแล้วนำยามาละลายน้ำ ยกเว้นผู้ที่มีข้อจำกัดในการใช้จะต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนแกะแบ่งเม็ดยาในแคปซูล เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประสิทธิผลจากการรักษาและมีความปลอดภัยสูงสุด

ผู้เขียน : ภก.ปริญญา เพิ่มลาภ, ภญ.จุฬาภา เรืองวัฒนาโชค งานเภสัชกรรมคลินิก ฝ่ายเภสัชกรรม
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ติดตามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่

นิตยสารวาไรตี้เพื่อสุขภาพ @Rama ฉบับที่ 27 คลิก

AtRama.mahidol.ac.th