“ถุงยางอนามัย...กับความปลอดภัยเมื่อมีกิจกรรมรัก”

“ถุงยางอนามัย...กับความปลอดภัยเมื่อมีกิจกรรมรัก”

“ถุงยางอนามัย...กับความปลอดภัยเมื่อมีกิจกรรมรัก”

ถุงยางอนามัยคือ?

ถุงยางอนามัย (Condom) มาจากภาษาละติน แปลว่า ภาชนะที่รองรับ ทำด้วยวัสดุจากยางพารา หรือโพลียูรีเทน โดยฝ่ายชายเป็นฝ่ายใช้สวมครอบอวัยวะเพศของตนเอง สามารถช่วยป้องกันการตั้งครรภ์และช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส หนองใน และเอดส์ได้

ประวัติถุงยางอนามัย

มีหลักฐานการใช้ถุงยางอนามัยครั้งแรกในประวัติศาสตร์อย่างน้อยเมื่อ 400 ปีที่แล้ว โดยปรากฏหลักฐานว่าเริ่มมีการใช้ถุงยางอนามัยในแถบยุโรป

ปี ค.ศ. 1861 ได้มีโฆษณาเกี่ยวกับถุงยางอนามัยเกิดขึ้นครั้งแรกทางหนังสือพิมพ์ The New York Time ในสหรัฐอเมริกา และได้มีการต่อสู้เพื่อยกเลิกข้อห้ามการใช้ถุงยางอนามัยในปี ค.ศ.1900 เนื่องจากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารในสหรัฐอเมริกามากกว่า 70% ติดเชื้อจากโรคทางเพศสัมพันธ์ที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงเริ่มรณรงค์ให้มีการใช้ถุงยางอนามัยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

แต่เมื่อถึงปี ค.ศ.1960 กลับพบเยาวชนนิยมมีเพศสัมพันธ์กันโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย จนกระทั่งอีก 20 ปีต่อมา พบการระบาดของเชื้อ HIV หรือเรียกกันว่าโรค AIDS ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์จึงเริ่มตระหนัก และหันมานิยมใช้ถุงยางอนามัยอีกครั้งหนึ่ง จวบจนถึงปัจจุบัน มีการผลิตและพัฒนาถุงยางอนามัยออกสู่ตลาดจำนวนมาก ในหลากหลายแบบให้เลือก ทั้งที่มีสีสัน ผิวเรียบ ผิวไม่เรียบ มีกลิ่นและรสผลไม้ รวมทั้งมีรูปทรงที่แปลกตามากขึ้น ซึ่งแต่ละแบบเน้นวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกัน

การใช้ถุงยางอนามัยที่ถูกวิธี

ผู้ที่ใช้ต้องใส่และถอดให้ถูกวิธี โดยให้ใส่เมื่ออวัยวะเพศแข็งตัวเต็มที่เท่านั้น บีบปลายกะเปาะไล่ลม แล้วสวมลงบนอวัยวะเพศรูดลงมาจนสุดเมื่อเสร็จการร่วมเพศ ต้องรีบดึงอวัยวะเพศออกขณะยังแข็งตัวอยู่ มิฉะนั้นถุงยางอาจจะหลุดอยู่ในช่องคลอดได้ และต้องดึงออกโดยไม่ให้น้ำอสุจิไหลออกมาอยู่บริเวณอวัยวะเพศหญิง เรามักพบปัญหาที่พบเกี่ยวกับการใช้ถุงยางอนามัยที่ไม่ถูกต้อง เช่น ใช้สารหล่อลื่นไม่ถูกต้อง ทำให้ถุงยางแตกหรือลื่นหลุด ไม่ใช้ถุงยางอนามัยใหม่แกะกล่อง ตัดสินใจถอดถุงยางทิ้งกลางคัน และใส่ถุงยางผิดด้านแล้วนำกลับมาใช้ใหม่

“ถุงยางอนามัย...กับความปลอดภัยเมื่อมีกิจกรรมรัก”

“ถุงยางอนามัยจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ มีกฎหมายรับรองและได้รับการประกาศมาตรฐานการผลิตจากกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 11 พ.ศ.2535 เพื่อการคุมกำเนิด หรือเพื่อป้องกันการติดต่อทางเพศสัมพันธ์”

ชนิดของถุงยางอนามัย

ถุงยางอนามัยที่มีการผลิตจำหน่ายในโลกมี 3 ชนิด โดยแบ่งตามวัสดุที่ใช้ ได้แก่

1) ชนิดที่ทำจากลำไส้สัตว์ (Skin condom) วัสดุที่ใช้ผลิตเป็นส่วนของลำไส้ส่วนล่างของแกะ ที่เรียกว่า caecum มีความหนา 0.15 มิลลิเมตร มีขนาดความกว้างตั้งแต่ 62 - 80 มิลลิเมตร สวมใส่ไม่รัดรูปแต่ไม่สามารถยืดตัวได้ ให้ความรู้สึกสัมผัสที่ดีในขณะมีเพศสัมพันธ์ เพราะเชื่อว่าวัสดุจากลำไส้สัตว์ สามารถสื่อผ่านความอบอุ่นของร่างกายสู่กันได้ แต่ในเมืองไทยไม่มีการผลิตจำหน่าย เนื่องจากมีราคาสูง

2) ชนิดที่ทำจากน้ำยางธรรมชาติ (rubber condom or latex condom) ถุงยางอนามัยที่ทำจากยางธรรมชาติมีราคาถูก มีความบางและยืดหยุ่นได้ดีกว่าแบบทำจากลำไส้สัตว์ ขนาดความกว้างน้อยจึงน้อยกว่า เวลาสวมใส่ให้ความรู้สึกกระชับรัดแนบเนื้อ

3) ชนิดที่ทำจาก Polyurethane (ถุงยางพลาสติก) ปัจจุบันมีการนำวัสดุอื่นมาผลิตเป็นถุงยางอนามัยด้วย เช่น สาร Polyurethane ถุงยางชนิดนี้ให้ความรู้สึกที่ดีและคงทนกว่าแบบที่ทำจากน้ำยางธรรมชาติ สามารถใช้สารหล่อลื่นที่ทำจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีได้เท่าที่มีจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา

“ถุงยางอนามัย...กับความปลอดภัยเมื่อมีกิจกรรมรัก”

ขนาดของถุงยางอนามัย

ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขปี 2535 คือ ขนาดความกว้างตั้งแต่ขนาด 44 มิลลิเมตร จนถึงขนาด 56 มิลลิเมตร และความยาววัดจากปลายเปิดจนถึงปลายปิดไม่รวมส่วนที่เป็นติ่งหรือกระเปาะ ต้องไม่น้อยกว่า 160 มิลลิเมตร ซึ่งกำหนดตามมาตรฐานขององค์การมาตรฐานระหว่างประเทศ (ISO) ปี ค.ศ. 1990

สำหรับตลาดในเมืองไทยมีอยู่ 2 ขนาด ได้แก่

1) ขนาดใหญ่ คือ มีขนาดความกว้าง 49 มิลลิเมตร และมีขนาดความยาวไม่น้อยกว่า 160 มิลลิเมตร ขนาดนี้เหมาะกับคนไทยมากที่สุด

2) ขนาดยักษ์ หรือขนาด 52 มิลลิเมตร เช่น มีขนาดความกว้าง 52 มิลลิเมตร และมีขนาดความยาวเท่ากับ 180 มิลลิเมตร เป็นต้น

ประสิทธิภาพของถุงยางอนามัย

1) ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ ป้องกันโรคเอดส์ ไวรัสตับอักเสบบี หูดหงอนไก่ หนองในเทียม หนองในแท้ พยาธิในช่องคลอด ซิฟิลิส โรคเริม แผลริมอ่อน เป็นต้น

2) ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด การใช้ถุงยางอนามัยเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ดี เพราะมีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้ หากเลือกใช้ถุงยางอนามัยที่ได้มาตรฐาน ไม่เสื่อม ไม่รั่ว ไม่ซึม ใช้อย่างถูกวิธีฉะนั้น เพื่อช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ และช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ให้มีประสิทธิภาพ ควรสวมใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งขณะมีกิจกรรมรักนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์

http://board.postjung.com/689647.html และ http://www.condomxx.com/

ผู้เขียน : กุสุมา ภักดี
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ติดตามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่

นิตยสารวาไรตี้เพื่อสุขภาพ @Rama ฉบับที่ 17 คลิก

AtRama.mahidol.ac.th