ยาน้ำ

ยาน้ำ

ยาน้ำ

ยาที่ใช้ในการบำบัดรักษาโรคในปัจจุบันมีการแบ่งตามการบริหารยาได้หลายรูปแบบ ได้แก่ยารับประทาน ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ยาทายาแผ่นแปะ และยาพ่น เป็นต้น โดยรูปแบบหนึ่งที่มีการใช้ยาอย่างแพร่หลายก็คือ ยารับประทาน ซึ่งแบ่งตามลักษณะทางกายภาพได้เป็น 2 ประเภทได้แก่เภสัชภัณฑ์รูปแบบของแข็ง (เช่น ยาเม็ดยาแคปซูล) และเภสัชภัณฑ์รูปแบบของเหลว (เช่น ยาน้ำใส ยาแขวนตะกอน)

แม้ว่ายาส่วนใหญ่ในท้องตลาดจะผลิตออกมาในรูปแบบของแข็ง ซึ่งมีความสะดวกในการบริหารยา และมีอายุในการเก็บรักษาได้นาน แต่ยารูปแบบของเหลวหรือที่ “ยาน้ำ” ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่ไม่สามารถรับประทานยาในรูปแบบเม็ดได้

ยาน้ำชนิดรับประทานแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้ 1) ยาน้ำใส  มีลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีตะกอน 2) ยาแขวนตะกอน เป็นยาน้ำที่มีตัวยาที่ไม่ละลายน้ำกระจายตัวอยู่ มีลักษณะขุ่นและตกตะกอนเมื่อวางทิ้งไว้ จึงต้องมีการเขย่าขวดก่อนใช้ทุกครั้ง 3) ยาน้ำเชื่อมชนิดผงแห้ง ยารูปแบบนี้มีการเสื่อมสลายได้ง่าย หากอยู่ในรูปยาน้ำจึงต้องเตรียมให้อยู่ในรูปยาผงก่อนใช้จึงต้องผสมน้ำสะอาดในปริมาณที่กำหนด และเขย่าขวดทุกครั้งก่อนรับประทานเช่นเดียวกับยาแขวนตะกอน ยาน้ำไม่ได้มีการแบ่งขนาดยาที่ชัดเจนเหมือนยาเม็ด จึงต้องมีอุปกรณ์ในการบริหารยา ได้แก่ ช้อนชา ถ้วยตวง และกระบอกฉีดยา (syringe)

ส่วนอุปกรณ์ที่ไม่ควรนำมาใช้ในการตวงยาคือ ช้อนกินข้าวหรือช้อนกาแฟ เนื่องจากปริมาตรไม่แน่นอน และอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับยาในประมาณที่ไม่เหมาะสมได้ นอกจากนี้ยาน้ำยังมีความแตกต่างจากยาเม็ดอีกประการ คือ อายุของยาและการเก็บรักษา โดยส่วนใหญ่ยาน้ำมักจะมีอายุหลังเปิดใช้ยาไม่นานนัก กล่าวคือ ยาน้ำใสมักจะมีอายุหลังเปิดใช้ประมาณ 1 เดือน ในขณะที่ยาน้ำเชื่อมชนิดผงแห้งจะมีอายุสั้นกว่าคือประมาณ 7-14 วันเท่านั้น ดังนั้นก่อนใช้ยาทุกครั้งจึงต้องมีการสังเกตลักษณะของยาก่อนเสมอ โดยสังเกตที่สี หากสีของยาน้ำเปลี่ยนไปจากวันที่เปิดใช้ยาครั้งแรก ควรทิ้งยาขวดนั้นไป เนื่องจากสงสัยว่ายาอาจเสื่อมคุณภาพได้

หากสีของยาน้ำเปลี่ยนไปจากวันที่เปิดใช้ยาครั้งแรก ควรทิ้งยาขวดนั้นไป เนื่องจากสงสัยว่ายาอาจเสื่อมคุณภาพได้
จะเห็นได้ว่า ยาน้ำเป็นยาที่มีวิธีการบริหารและการเก็บรักษาแตกต่างจากยาเม็ดค่อนข้างมาก ดังนั้นผู้บริหารยาจึงควรมีความเข้าใจในการใช้ยาในรูปแบบดังกล่าว เพื่อให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยและได้รับประสิทธิภาพจากการใช้ยาอย่างเต็มที่

ยาน้ำ

ผู้เขียน : ภญ.ณัฎฐณิชา ศุภลักษณ์บันลือ งานเภสัชกรรมคลินิก ฝ่ายเภสัชกรรม
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ติดตามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่

นิตยสารวาไรตี้เพื่อสุขภาพ @Rama ฉบับที่ 26 คลิก

AtRama.mahidol.ac.th