HPV... ไวรัสร้ายใกล้ตัวที่ควรป้องกันตั้งแต่วัยรุ่น

HPV... ไวรัสร้ายใกล้ตัวที่ควรป้องกันตั้งแต่วัยรุ่น

HPV... ไวรัสร้ายใกล้ตัวที่ควรป้องกันตั้งแต่วัยรุ่น

HPV...ไวรัสร้ายใกล้ตัว ที่ควรป้องกันตั้งแต่วัยรุ่น

เชื้อเอชพีวี (HPV) หรือ ไวรัสฮิวแมนแพพพิลโลมา (Human papillomavirus) เป็นสาเหตุของโรคหลายชนิด โดย HPV แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

HPV ชนิดก่อมะเร็ง:  มี 14 สายพันธุ์ ทําให้เป็นโรคร้ายมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด โดยสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกถึงประมาณร้อยละ 70 รองลงมาคือ สายพันธุ์ 45, 31 และ 33

HPV ชนิดไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง: ไม่ได้ทําาให้เกิดมะเร็งปากมดลูก แต่เป็นสาเหตุของหูดหงอนไก่บริเวณอวัยวะเพศ เช่น HPV 6 และ 11

มะเร็งปากมดลูกร้ายแรงอย่างไร?

มะเร็งปากมดลูกคือมะเร็งที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของเซลล์บริเวณปากมดลูก หากไม่ได้รับการตรวจพบและรักษาได้ทันเวลา ก็อาจเกิดการลุกลามและแพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียงได้ โดยเฉพาะอวัยวะสําคัญภายในช่องท้อง เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระเพาะปัสสาวะ ลําไส้ ทําาให้ยากแก่การรักษาและมีโอกาสเสียชีวิตสูง

มะเร็งปากมดลูกพบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม ในประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ถึงปีละประมาณ 8,200 คน ครึ่งหนึ่งจะเสียชีวิตภายในเวลา 5  ปี  ในแต่ละวันมีหญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกถึงวันละ 12 คน

ผู้หญิงติดเชื้อ HPV ได้อย่างไร

เชื้อ HPV ติดต่อได้ง่ายผ่านทางเพศสัมพันธ์เป็นหลัก เมื่อติดเชื้อ เซลล์ปากมดลูกเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็งอาจใช้เวลานาน 10-15 ปี ซึ่งผู้หญิงที่ติดเชื้อมักจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เป็นระยะเวลานาน แต่จะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการแล้ว เช่น เลือดออกผิดปกติจากช่องคลอดที่ไม่ใช่ประจําเดือน มะเร็งมักเข้าสู่ระยะลุกลามแล้ว

ใครมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูก

ผู้หญิงแทบทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูก โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย และผู้หญิงที่มีคู่นอนหลายคน  โดยพบว่าวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่พบการติดเชื้อ HPV มากที่สุด ดังนั้นการป้องกันจึงควรเริ่มตั้งแต่ก่อนเด็กหญิงเข้าสู่วัยรุ่น จากการศึกษาพบว่าร้อยละ 50-80 ของผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วมีโอกาสติดเชื้อ HPV อย่างน้อย 1  ครั้งในชีวิต แม้จะมีคู่นอนเพียงคนเดียวก็มีโอกาสติดเชื้อได้ และแม้ว่าร้อยละ 90 ของผู้หญิงที่ติดเชื้อ HPV แล้ว จะสามารถกําจัดเชื้อได้เอง แต่เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าผู้หญิงคนใดสามารถกําจัดเชื้อร้ายนี้ได้ ดังนั้น การป้องกันการติดเชื้อจึงมีความสําคัญมาก

เราจะป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้อย่างไร?

สามารถป้องกันได้ 2 วิธี   คือ ฉีดวัคซีน HPV เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเมื่อถึงวัย  ซึ่งหากตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ในระยะแรกๆ ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้

วัคซีน HPV ป้องกันได้อย่างไร?

วัคซีน HPV จะกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อ HPV ปัจจุบันวัคซีน HPV มี 2 ชนิด ชนิดแรก เป็นวัคซีน HPV ชนิด 2  สายพันธุ์ ซึ่งมีการเสริมสารกระตุ้นภูมิรุ่นใหม่ เน้นป้องกันมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อ HPV สายพันธุ์ก่อมะเร็ง (HPV 16, 18 และ HPV สายพันธุ์ก่อมะเร็งอื่นๆ) อีกชนิดเป็นวัคซีน HPV ชนิด 4  สายพันธุ์ ใช้ป้องกันมะเร็งปากมดลูก (จาก HPV 16, 18) และหูดอวัยวะเพศ (จาก HPV 6, 11)

ลูกสาวเรายังเด็กเกินไปที่จะรับวัคซีนหรือไม่?

มะเร็งปากมดลูกไม่ใช่เรื่องไกลตัวเด็ก แม้ว่าโรคนี้มักพบในผู้หญิงช่วงวัยกลางคนขึ้นไป แต่จากการศึกษาพบว่า ธรรมชาติของการเกิดโรคใช้เวลานาน 10-15 ปี หลังจากผู้หญิงเกิดการการติดเชื้อจนพัฒนาไปเป็นมะเร็ง หมายความว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่ได้รับเชื้อตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ดังนั้นเพื่อให้วัคซีนมีประสิทธิภาพสูงสุดจึงควรให้วัคซีนก่อนที่เด็กจะได้รับเชื้อ HPV นั่นคือควรให้วัคซีนในช่วงวัยรุ่นตอนต้น หรือก่อนการมีเพศสัมพันธ์นั่นเอง

เนื่องจากเด็กสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าผู้ใหญ่ การฉีดวัคซีนในเด็กหญิงช่วงอายุ 9-14 ปี  จึงเป็นโอกาสดี เนื่องจากสามารถให้วัคซีนเพียง 2 เข็มได้ หากอายุมากกว่า 15 ปี  ต้องฉีด 3 เข็ม การลดจํานวนเข็มที่ต้องฉีดลงจาก 3 เข็มเหลือ 2 เข็มนี้ มีข้อดีคือ ประหยัดกว่า สะดวกกว่า และเจ็บน้อยกว่า โดยตารางการฉีดแบบ 2 เข็มนี้ได้รับอนุมัติจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยาเรียบร้อยแล้ว (เฉพาะวัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์) 

นอกจากนี้สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยได้มีคําแนะนําการให้วัคซีน HPV โดยเน้นให้ฉีดวัคซีน HPV ในเด็กหญิงช่วงอายุ 11-12 ปี  (แนะนําให้ฉีด 2 เข็มที่ 0, 6 เดือน หรือ 3 เข็มที่ 0, 1, 6 เดือนสําาหรับวัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ สําหรับวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์แนะนําให้ฉีด 3 เข็มที่ 0, 2, 6 เดือน) ทั้งนี้การฉีดวัคซีนตั้งแต่วัยเด็กก็เพื่อให้ลูกพร้อมรับมือกับเชื้อที่เข้ามาเมื่อถึงวัยแต่งงานหรือจะมีเพศสัมพันธ์ในอนาคต การให้ลูกฉีดวัคซีนตั้งแต่ก่อนเข้าสู่วัยรุ่นจึงเป็นโอกาสสําคัญที่เราจะให้การปกป้องแก่ลูกตั้งแต่วันนี้
เราแก่เกินไปที่จะฉีดวัคซีนหรือไม่

แม้ว่าวัคซีน HPVจะให้ประโยชน์สูงสุดในเด็กหญิง แต่การให้วัคซีนในผู้ใหญ่ก็ยังสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อตามธรรมชาติมาก ผลการศึกษาในผู้ใหญ่พบว่าวัคซีนยังคงมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันรอยโรคก่อนมะเร็ง ผู้ใหญ่จึงยังได้ประโยชน์จากการฉีดวัคซีนเช่นกัน
ปัจจุบันวัคซีน HPV ชนิด 2 สายพันธุ์ได้รับอนุมัติให้ฉีดในผู้หญิงตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป สําหรับวัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ได้รับอนุมัติให้ใช้ในผู้หญิงและผู้ชายอายุ 9-26 ปี
วัคซีนปลอดภัยหรือไม่

การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV มีความปลอดภัยสูง ไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง ส่วนใหญ่อาการที่พบบ่อยได้แก่ ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีดยา ซึ่งอาการดังกล่าวมักจะดีขึ้นและหายไปภายในเวลาประมาณ 3 วัน

ผู้เขียน : ผศ. นพ.ชนเมธ เตชะแสนศิริ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ติดตามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่

นิตยสารวาไรตี้เพื่อสุขภาพ @Rama ฉบับที่ 15 คลิก

AtRama.mahidol.ac.th