นิตยสารสกุลไทย : นพ.แสงชัย ผู้บุกเบิกการผ่าตัดภายในโพรงมดลูกด้วยกล้องในประเทศไทย

สัมภาษณ์พิเศษ
พิชามญชุ์ เรื่อง / ทวีทรัพย์ ภาพ
จากนิตยสารสกุลไทย รายสัปดาห์ ปีที่ 51
ฉบับที่ 2657 ISSN 0125-068 X
ประจำวันอังคาร วันที่ 20 กันยายน 2548

หัตถการในงานชีวิต...ศ.นพ.แสงชัย พฤทธิพันธุ์
แพทย์ผู้บุกเบิกการผ่าตัดภายในโพรงมดลูกด้วยกล้องในประเทศไทย
 
หัตถการในงานชีวิต...ศ.นพ.แสงชัย พฤทธิพันธุ์
 
          “สูติ-นรีเวช   เป็นวิชาที่ต้องใช้งานหัตถการ”
          คำกล่าวนี้ยืนยันข้อเท็จจริงว่า  “มือ” ของสูติ-นรีแพทย์คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยทั้งในการรักษาผู้ป่วยสตรีไปจนถึงการทำคลอดเพื่อก่อเกิดชีวิตใหม่ สูติ-นรีแพทย์ ที่ได้รับการยอมรับจึงต้องมีความโดดเด่นใน “งานหัตถการ” ซึ่งเป็นเสมือนศูนย์รวมเป็นศาสตร์และศิลป์ สุดยอดของวิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
          ในแวดวงสูติ-นรีแพทย์  ของประเทศไทยและในระดับนานาชาติ เวลานี้ ชื่อของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ แสงชัย พฤทธิพันธุ์ ได้รับการกล่าวถึงในฐานะแพทย์ผู้บุกเบิกการผ่าตัดภายในโพรงมดลูกด้วยกล้องส่องโพรงมดลูกในประเทศไทย  ซึ่งเป็นวิทยาการทางการแพทย์ที่มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ แสงชัย ยังเป็นเจ้าของ รางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม จากสภาวิจัยแห่งชาติปี   พ.ศ.2546   และได้รับพระราชทานรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาวิจัย ปี พ.ศ.2547 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ   ที่สามารถคิดค้นงานวิจัยที่มีคุณูปการต่อวงการแพทย์ทั่วโลกจากผลงานการวิจัยเรื่อง   “การเตรียมถ่างขยายปากมดลูกให้นุ่มด้วยการให้ยา Misoprostol ทางช่องคลอดก่อนการตรวจ และผ่าตัดด้วยกล้องส่องโพรงมดลูก”    ผลงานชิ้นนี้นับเป็นการศึกษาครั้งแรกของโลกเท่าที่สืบค้นได้จากประวัติศาสตร์ทางวิชาการ  และปัจจุบันถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก ทั้งหมดนี้ด้วยผลสำเร็จจาก “หัตถการในงานชีวิต” ของสูติ-นรีแพทย์ไทย  ชื่อ  ศาสตราจารย์ นายแพทย์ แสงชัย พฤทธิพันธุ์
 
หัตถการในงานชีวิต...ศ.นพ.แสงชัย พฤทธิพันธุ์
 
ได้รับพระราชทานรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล  ผลงานดีเด่นสาขาวิจัย  ประจำปี พ.ศ. 2547 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ในพิธีพระราชทานปริญญาของมหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ 1 กรกฎาคม 2547 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร
 
หัตถการในงานชีวิต...ศ.นพ.แสงชัย พฤทธิพันธุ์ หัตถการในงานชีวิต...ศ.นพ.แสงชัย พฤทธิพันธุ์
ถ่ายภาพกับครอบครัว ในโอกาสได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์
จากสภาวิจัยแห่งชาติ  ประจำปี   พ.ศ. 2546
 
          “งานชีวิต” ของ  ศาสตราจารย์  นายแพทย์แสงชัย เริ่มต้นที่อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นเสมือนบ้านเกิด  จนกระทั่งต่อมาจึงย้ายตามครอบครัวไปอยู่ที่อำเภอเมือง  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  เข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ก่อนจะเดินตามเส้นทางชีวิตด้วยเข็มทิศนำทาง ซึ่งก็คือผลการเรียนที่อยู่ในระดับดีเยี่ยม
          “สมัยก่อน เด็กต่างจังหวัดที่มีผลการเรียนดี ทุกคนก็ใฝ่ฝันจะมาเข้าเตรียมอุดม ผมก็เป็นเด็กบ้านนอกที่อยากเข้ามาลองแข่งขันกับเขาดู ไม่เคยมาหรอก  กรุงเทพฯ  ก็บังเอิญสอบได้  ได้เข้าเตรียมอุดม พอจบ ม.ปลาย  คะแนนก็อยู่ในเกณฑ์ดีมาก  ประกอบกับผมมีความใฝ่ฝันที่จะเป็นแพทย์  ครอบครัวก็สนับสนุน  ก็เลยสอบเข้าเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี 
          เนื่องจากผมเป็นเด็กต่างจังหวัด  ก็มีความมุ่งมั่นสูงว่าเรียนจบแล้วก็จะกลับไปอยู่ที่สุราษฎร์ธานี  พอจบแพทย์ก็จะต้องมีการทำงานใช้ทุน  ยุคนั้นเป็นยุคที่มีการปราบปรามคอมมิวนิสต์   ทีนี้เวลาจะไปใช้ทุนก็ต้องจับฉลากกัน รุ่นของผมก็มาตกลงกันว่าเราลองจับกลุ่มกันก่อน  ให้ได้จังหวัดก่อนแล้วค่อยไปแบ่งกันเอง  พอจับเสร็จก็มาพูดเรื่องรายละเอียดกันว่าใครจะไปอยู่อำเภอไหน  เขาก็บอกว่า คุณหมอแสงชัยเป็นคนสุราษฎร์ ขอให้เสียสละได้ไหม ไปอยู่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เวียงสระ อำเภอเวียงสระ อำเภอนี้ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง  เป็นอำเภอที่ทุรกันดาร  และมีการปราบปรามคอมมิวนิสต์หนักมาก   เรียกว่าถ้าเป็นข้าราชการปกครองไปอยู่ก็เหมือนถูกทำโทษ   ผมก็ตอบตกลง ไปถึงชาวบ้านถามว่าหมอถูกทำโทษมาหรือเปล่า  (หัวเราะ)  ผมก็บอก  อะไร  อุตส่าห์เสียสละมา  เพราะเพื่อนที่เป็นเด็กกรุงเทพฯเขาไม่กล้ามาอำเภอนี้ ขออยู่ที่ตัวเมือง 
          ตอนที่ผมไปอยู่  มีคุณหมออยู่แล้ว 2 ท่าน เป็นสามีภรรยากัน  ผมเป็นคนที่ 3  อยู่ไปไม่ถึงปี  ผู้อำนวยการจำเป็นต้องย้ายด่วน  เพราะเกิดความเข้าใจผิดระหว่างแพทย์กับคนไข้  มีการขู่จะทำร้ายกัน  เขาก็เลยขอย้ายก่อนคำสั่งจะมา  ก็เหลือผมคนเดียว  ผู้ใหญ่ก็บอกมาว่าคุณหมอแสงชัยต้องทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการนะ   ทั้งๆที่เราเพิ่งเรียนจบมาไม่ถึงปี  ผมก็ยังถามตัวเองว่าเป็นไหวหรือ  แต่ก็ไม่มีคนอื่น  ปีถัดมาถึงมีรุ่นน้องมาช่วยอีก 2 คน
......ตอนนั้นที่เวียงสระมีการปราบปรามหนักมาก  แต่ด้วยความที่เราเป็นหมอ ก็ไม่มีใครมาทำร้าย   มีอยู่ครั้งหนึ่งผมตรวจคนไข้เสร็จ  ลูกน้องมากระซิบบอกว่าคนที่คุณหมอตรวจไปเมื่อกี้เป็นหัวหน้าใหญ่คอมมิวนิสต์นะ ลงมาจากเขา  รู้ไหม  จะไปรู้ได้ไง  ผมมีหน้าที่ตรวจก็ตรวจไป  ทีนี้เราเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก  ก็จะต้องมีส่วนกลางมานิเทศงาน  เราก็ตั้งรับอย่างดี  มีกำหนดมา 3 วัน  พอมาวันแรกไม่ทันไร   เกิดยิงกัน ตูม ตูม หลังโรงพยาบาลซึ่งเป็นภูเขา  นิเทศบอกขอนิเทศครึ่งวันก็พอ”
         หลังจากทำงานใช้ทุนครบ 2 ปี แพทย์หนุ่มจากสุราษฎร์ธานีในขณะนั้น ก็มีความมุ่งมั่นที่จะศึกษาต่อในแผนกสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา   จึงกลับมาศึกษาต่อที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี   นับเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตสูติ-นรีแพทย์ก่อนจะเกิดก้าวสำคัญในเวลาต่อมา
         “พออยู่ที่เวียงสระครบ 2 ปี  ผมก็ตั้งใจจริงๆที่จะกลับมาเรียนแผนกสูติ  ซึ่งก็มีหลายปัจจัย  อันที่หนึ่งคือเราคิดว่าวิชาสูติ-นรีเวชเป็นวิชาที่ต้องใช้หัตถการ  ผมคิดว่าผมทำได้  ผมชอบหัตถการ  ตอนนั้นยังไม่รู้หรอกว่ามีกล้องหรืออะไร   รู้แต่ถ้าเป็นหัตถการ  เราทำได้   ประกอบกับผมได้เห็นตัวอย่างครูแพทย์ทางด้านสูติฯที่น่าเลื่อมใส  คือ     ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมพล   พงศ์ไทย  ท่านเองก็ชวนด้วยว่าสนใจไหม  ผมก็กลับมาเรียน   ด้วยความตั้งใจว่าจบแล้วก็จะกลับไปใช้ทุนที่สุราษฎร์เหมือนเดิม   ตั้งใจว่าจะไปรับใช้บ้านเกิดให้ได้   ระหว่างที่มาเรียนก็ได้พบคุณหมออรุณวรรณ  (ภรรยา-ปัจจุบันเป็นหัวหน้าหน่วยโรคระบบหายใจเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี) ซึ่งเป็นรุ่นน้อง   พอผมจบเป็นผู้เชี่ยวชาญก็แต่งงาน   แต่งงานเสร็จก็แยกกันอยู่  เพราะคุณหมออรุณวรรณก็ต้องไปใช้ทุนที่สัตหีบ  ผมกลับไปสุราษฎร์  อยู่กันคนละที่  คนละภาค  จนกระทั่งมีลูก   ก็ยังต้องแยกกันอีก   สุดท้ายผมก็คิดว่าเรามีลูกแล้ว  ถ้าครอบครัวแยกกันอยู่อาจจะไม่ดีนัก  ก็เลยทำเรื่องย้ายกลับมาส่วนกลางมาอยู่ที่โรงพยาบาลราชวิถี   แต่ก็ยังต้องแยกกันอีกเพราะผมได้รับทุนไปเรียนที่อังกฤษ  2 ปี  จนกระทั่งผมกลับมาก็เป็นคิวของคุณหมออรุณวรรณต้องไปอเมริกา  เรียกว่าแต่งงานมา 5 ปีอยู่ด้วยกันจริง ๆ แค่ 6 เดือน   สุดท้ายผมก็เลยตัดสินใจลาออกจากราชการเพื่อไปอยู่ด้วยกันที่จอห์น ฮอปกินส์  อีก 2 ปี  เลยได้ใช้ชีวิตครอบครัวอย่างสมบูรณ์ที่นั่น”
 
หัตถการในงานชีวิต...ศ.นพ.แสงชัย พฤทธิพันธุ์
 
ที่ Royal Free Hospital, London, England ปี พ.ศ. 2532
 
หัตถการในงานชีวิต...ศ.นพ.แสงชัย พฤทธิพันธุ์
 
คุณย่าพรรณงาม พฤทธิพันธุ์ ตามมาเยี่ยมที่ Johns Hopkins Hospital, Baltimore, USA. ปี พ.ศ. 2536
 
          ศาสตราจารย์ นายแพทย์แสงชัย สอบชิงทุน British Council ไปศึกษาต่อที่โรงพยาบาล Royal Free Hospital ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ  ด้านการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธีเด็กหลอดแก้ว  และการผ่าตัดด้วยกล้อง โดยเป็นแพทย์ไทยรุ่นแรกที่ศึกษาในหลักสูตรดังกล่าว   หลังจากกลับมาพำนักในเมืองไทยระยะหนึ่งจึงได้ไปศึกษาต่อยังสหรัฐอเมริกาพร้อมกับครอบครัว   โดยได้ทำวิจัยและศึกษาต่อด้าน Reproductive Endocrinology ที่โรงพยาบาล Johns Hopkins ซึ่งเป็นโรงพยาบาลหมายเลขหนึ่งของอเมริกาในขณะนั้น  เป็นเวลา 2 ปี   ก่อนจะกลับมาทำงานที่ภาควิชาสูติ-นรีเวช โรงพยาบาลรามาธิบดี  ในปี  พ.ศ. 2537  ในตำแหน่งอาจารย์แพทย์   ด้วยความสนับสนุนจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  และต่อมา ศาสตราจารย์ นายแพทย์แสงชัย ได้เป็นผู้บุกเบิกการผ่าตัดภายในโพรงมดลูกด้วยการใช้กล้องส่องโพรงมดลูก   ซึ่งในเวลานั้นนับว่าเป็นวิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่   และได้พลิกโฉมหน้าให้เกิดการผ่าตัดมดลูกแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากในอดีต
          “ตอนที่ผมไปเรียนที่อังกฤษ  บังเอิญว่าไปเจอเซ็นเตอร์ที่เขาเก่งเรื่องการใช้กล้อง   วิธีผ่าตัดกล้องนี้เริ่มต้นในประเทศแถบยุโรป  โดยเฉพาะในเยอรมัน  มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์  อะไรที่มันอยู่ในจุดลี้ลับ  ก็อยากค้นหา  ที่ผ่านมา  การรักษาคนไข้นี่  เรามองไม่เห็น  ก็ทำได้คือผ่าตัดเปิดหน้าท้อง  เปิดผนังมดลูกเข้าไปแล้วคว้านเอาเนื้องอกในโพรงมดลูกออก  วิธีนี้ทำมานานเป็นร้อยๆ ปีแล้ว   พอยุคที่เริ่มมีการใช้เลนส์  คนก็คิดทำให้มีเลนส์ที่ขนาดเล็กลงแล้วสามารถนำไปส่องในจุดที่อยากจะดู   ต่อมาแทบทุกสาขาของแพทย์ก็มีกล้องหมด  มีการพัฒนาเรื่องเลนส์  ทีนี้เลนส์อย่างเดียวไม่พอ  ก็ต้องมีแสงไฟ และต่อมาก็พัฒนาเครื่องมือให้ผ่าได้ สามประการนี้ใช้เวลาเป็น 100  ปีในประวัติศาสตร์ ของวงการแพทย์ 
          ทีนี้  ที่ผ่านมาสุภาพสตรีจำนวนมากที่มาพบแพทย์   ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องเลือดออกผิดปกติ  ไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสี่จะต้องมีปัญหานี้  แสดงว่ามีปัญหาในโพรงมดลูก   แต่เดิมในทางการแพทย์การหาสาเหตุของอาการนี้ก็คือต้องขูดมดลูกเพื่อเอาเนื้อมาตรวจหาสาเหตุ   แต่เราทำโดยที่มองไม่เห็น   ฝรั่งเขาเรียกว่า Blind Technique    เพราะฉะนั้นตาดีคุณก็ขูดได้   ตาร้ายขูดไปก็ไม่หาย   ทีนี้ในต่างประเทศเขามีการใช้กล้องเพื่อส่องดูความผิดปกติในโพรงมดลูก  ผมจึงนำเครื่องมือมาใช้   และพบว่ามีข้อดีมากในการตรวจความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในโพรงมดลูก   การวินิจฉัยโรคแม่นยำมาก   เรียกว่ากล้องนี้มีประโยชน์ในคน 2 กลุ่มชัดๆ ก็ คือ  กลุ่มคนไข้ที่มีปัญหาเรื่องเลือดออกผิดปกติ   และกลุ่มคนไข้ที่ต้องการมีลูกและต้องการหาสาเหตุว่ามดลูกมีอะไรผิดปกติ
           ส่วนการผ่าตัดโดยใช้กล้องก็มีประโยชน์มาก  โดยเฉพาะเป็นการเปลี่ยนโฉมจากการผ่าตัดใหญ่เป็นผ่าตัดเล็ก เนื่องจากเราไม่ต้องผ่าตัดแบบเปิดท้องแบบเดิม   ซึ่งมีข้อเสียตรงที่ทำให้คนไข้เสียเลือดมาก   ต้องพักฟื้นนาน   แต่การผ่าตัดโดยใช้กล้องเราไม่ต้องเปิดท้อง   เพียงแต่ใช้กล้องผ่านปากมดลูกเข้าไปผ่าตัดเอาเฉพาะเนื้องอกภายในโพรงมดลูกออก   โดยมีกล้องวิดีโอประกบอยู่ตรงปลายเลนส์   เพื่อให้รูปมาออกที่จอทีวี   เวลาผ่า   เราก็มีลวดไฟฟ้าเข้าไปตัดเนื้องอกออกมาเป็นชิ้นๆ   ค่อยๆตัดออกมาจนหมด   ซึ่งการผ่าตัดนี้เลือดจะไม่ออก  เพราะเราใช้ไฟฟ้าทั้งตัดและจี้ เลือดก็จะหยุด   เวลาที่ผ่า   หมอจะนั่งผ่าโดยที่จะต้องมีการประสานระหว่างตากับมือ   ตามองที่จอโทรทัศน์   มือจับกล้องผ่าตัด   ต้องมีความสัมพันธ์กัน   คนไหนที่มีความบกพร่องเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างตากับมือ  จะผ่าไม่ได้เพราะมันต้องขยับทีละ 1-2  มิลลิเมตร  โดยเฉลี่ยก็จะใช้เวลาผ่าประมาณครึ่งชั่วโมง  ถ้าเคสที่ยากหน่อยก็อาจจะถึง 1 ชั่วโมง
          นอกจากข้อดีที่ทำให้ผู้ป่วยบาดเจ็บน้อยลงแล้ว   การผ่าตัดโดยใช้กล้องก็ทำให้ผู้ป่วยสามารถตั้งครรภ์ต่อได้และสามารถคลอดบุตรด้วยวิธีธรรมชาติได้   อย่างไรก็ตามก็มีข้อจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มคนไข้บางรายที่ไม่สามารถผ่าตัดด้วยการใช้กล้องได้ ก็คือคนไข้ที่ดมยาสลบไม่ได้   คนที่เป็นโรคหัวใจ  โรคตับ  หรือคนไข้ที่มีพยาธิสภาพมากเกินไปคือก้อนใหญ่เกินไป   ผมก็แนะนำว่าไม่เหมาะกับการใช้กล้อง   ก็จะแนะนำให้ใช้วิธีเปิดท้องแบบเดิมดีกว่า เพราะเสี่ยงน้อยกว่า ไม่ใช่ทุกคนจะผ่าแบบนี้ได้ทั้งหมด”
 
หัตถการในงานชีวิต...ศ.นพ.แสงชัย พฤทธิพันธุ์ หัตถการในงานชีวิต...ศ.นพ.แสงชัย พฤทธิพันธุ์

Professor Sangchai Preutthipan, M.D., a pioneer in hysteroscopic surgery in Thailand

หัตถการในงานชีวิต...ศ.นพ.แสงชัย พฤทธิพันธุ์

การผ่าตัดเนื้องอกด้วยกล้องส่องโพรงมดลูก (hysteroscopic surgery)

          แม้ว่าการผ่าตัดด้วยกล้องจะมีคุณประโยชน์มากมายในทางการแพทย์   แต่ในช่วงแรกที่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์แสงชัย ได้นำวิธีการผ่าตัดด้วยกล้องส่องโพรงมดลูกมาใช้ในประเทศไทยก็ได้พบกับอุปสรรคหลายอย่าง ประการสำคัญคือการนำกล้องเข้าไปในโพรงมดลูกซึ่งมีความยากลำบาก  โดยเฉพาะในกลุ่มสุภาพสตรีที่ไม่เคยตั้งครรภ์   และสตรีวัยทอง  เนื่องจากปากมดลูกมีขนาดเล็ก  อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญดังกล่าวก็กลายเป็นโอกาสที่ทำให้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์แสงชัย ได้ค้นพบวิธีการแก้ไขปัญหา  …ซึ่งต่อมาก็ได้กลายเป็นผลงานวิจัยชิ้นสำคัญที่ได้สร้างคุณูปการต่อวงการแพทย์…
          “ถึงแม้กล้องจะมีขนาดเท่าปากกา   แต่ปัญหาคือช่องทางเข้า  การจะนำกล้องเข้าไปก็มีอุปสรรค   อุปสรรคนี้ทำให้เกิดอันตรายได้  คือทำให้ปากมดลูกฉีกและมดลูกทะลุ   ฝรั่งเขาทำยังไงรู้ไหมครับ   เขาเอาแท่งเหล็กมาขยายปากมดลูกให้กว้างขึ้น   แต่เมื่อผมเจอปัญหานี้   ผมคิดว่าไม่น่าตามอย่างฝรั่ง   คิดว่าน่าจะมีวิธีอื่น  ก็พบว่ามียาตัวหนึ่งชื่อ Misoprostol   เป็นยาที่แพทย์ใช้ในการเร่งคลอดสำหรับสุภาพสตรีที่ตั้งครรภ์เพื่อให้ปากมดลูกขยายออก   ผมก็มานั่งคิดว่าถ้ามันออกฤทธิ์ในคนท้องได้   ทำไมมันจะไม่ออกฤทธิ์ในคนที่ไม่ท้องล่ะ    เราก็ลองเอามาใช้ดูโดยการศึกษาในผู้ป่วย 300 ราย   ผลก็คือยานี้ทำให้ปากมดลูกนุ่มและขยายตัวได้ดีกว่าการขยายปากมดลูกด้วยแท่งเหล็ก   ทำให้การผ่าตัดด้วยกล้องง่ายขึ้น   เป็นไปตามที่เราคิด   เราจึงได้ส่งรายงานผลการวิจัยไปที่วารสารทางการแพทย์ชั้นนำของอเมริกา และได้รับการตีพิมพ์ภายใน 3 เดือน   ขณะนี้ก็มีแพทย์เอาไปใช้แล้วทั่วโลก   ซึ่งในต่างประเทศเขาจะให้เครดิตแก่คนที่เป็นต้นคิด  โดยจะกล่าวอ้างชื่อไว้ในวารสารทางการแพทย์   แพทย์ฝรั่งหลายคนก็อีเมล์มาถาม  หรือบางคนก็เอาไปใช้ต่อได้เลย   ที่สำคัญคือยาตัวนี้เป็นยาที่ราคาไม่แพง   สามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิปกติได้   ซึ่งจะเหมาะกับประเทศยากจน  อย่างพวกแอฟริกาเขาก็เอาไปใช้ได้”
          ขณะนี้  การผ่าตัดด้วยกล้องส่องโพรงมดลูกเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมอย่างมาก   แต่การผ่าตัดด้วยวิธีดังกล่าวยังจำกัดอยู่ในโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ในส่วนของโรงพยาบาลรามาธิบดีโดยการดูแลของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์แสงชัยถือว่าเป็นศูนย์กลางการผ่าตัดด้วยกล้องที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดแห่งหนึ่ง   และเป็นแห่งแรกที่จัดการฝึกอบรมการผ่าตัดด้วยกล้อง  โดยในปีหนึ่งๆรับแพทย์ประมาณ 30 คน  เพื่อให้สูติ-นรีแพทย์ได้ฝึกความชำนาญเพื่อนำความรู้ไปรับใช้ประชาชนทั่วประเทศ
          “เวลานี้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ในบ้านเรายังมีไม่มาก   เวลานี้รามาธิบดีฯเป็นศูนย์กลางจัดฝึกอบรม   ปีหนึ่งรับแพทย์ได้จำกัดเพราะว่าเครื่องมือมีจำกัด   แพทย์ที่มาเรียนก็เรียกว่าต่อยอดนะ   ต้องจบเป็นผู้เชี่ยวชาญทางสูติ-นรีเวชมาแล้ว   แล้วก็มาเรียนเพิ่มเติมอีก 2 ปี ถือว่าเป็นขั้นสูงสุด   ถึงอย่างนั้นแพทย์ด้านนี้ก็ยังไม่พอและยังขาดอีกมาก   มีปัญหาคนไข้ก็ต้องมาหาเราเพราะรู้ว่าเราเป็นศูนย์กลาง    คิวผ่าตัดเวลานี้ประมาณ 2-3  เดือน  ในส่วนของค่าใช้จ่ายจะไม่แพงเพราะถือว่าเป็นการฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ไปในตัวด้วย
          ผมคิดว่าแนวโน้มเทคโนโลยีในศตวรรษใหม่   จะใช้กล้องในการผ่าตัดมากขึ้น   แต่ก็ต้องระวัง  เพราะไม่ใช่จะดีเสมอไป  โทษก็มี  ถ้าหากทำแล้วผิดพลาด  อย่างมดลูกจริงๆก็มีขนาดเล็กเท่ากำปั้น   ถ้าเกิดพลาดหรือฝีมือไม่ได้เกณฑ์มาตรฐาน  ผ่าตัดในโพรงมดลูกแต่กล้องเกิดทะลุออก  หรือใส่เลยไปเซนติเมตรเดียว  ไปโดนลำไส้ก็ทำให้ลำไส้อักเสบ คนไข้เสียชีวิตได้   อันนี้มีรายงานในต่างประเทศ   แต่ของเรายังไม่เคยเจอ   …เพราะฉะนั้นต้องแม่นยำ ชัดเจน ทุกอย่างพลาดไม่ได้ ต้องใช้ประสบการณ์”
          นอกจากงานในตำแหน่งหัวหน้าหน่วยผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีแล้ว   เวลานี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์แสงชัย ยังดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายวิชาการ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล   และยังสวมหมวกอีกใบหนึ่งในฐานะอาจารย์แพทย์
 
หัตถการในงานชีวิต...ศ.นพ.แสงชัย พฤทธิพันธุ์
 
งานอีกด้านหนึ่งคืองานบริหาร ในตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายวิชาการ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
 
          “เวลานี้ผมทำงานหลายอย่าง  เป็นอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์หลายระดับ  แพทย์ประจำบ้าน  แพทย์ผู้เชี่ยวชาญของสูติ-นรีเวช  แพทย์ต่อยอด  ต่อมาคืองานบริการรักษาผู้ป่วย  ในแต่ละอาทิตย์ต้องมีเวลาว่าวันไหนออกตรวจ  วันไหนผ่าตัด  อันที่สามคือทำวิจัยคิดแก้ปัญหา   ส่วนอันที่สี่ไม่มีใครบังคับ  คืองานบริหาร  อันนี้แล้วแต่ว่าคุณมีเวลา หรือผู้ใหญ่เห็นว่าควรจะต้องมาเสียสละ  เมื่อคุณได้รับตำแหน่งทางวิชาการสูงสุดแล้ว   แต่งานที่ผมทำแล้วมีความสุขมากที่สุดก็คือสอนหนังสือลูกศิษย์ลูกหา   คิดว่าเป็นการช่วยเหลือประเทศชาติได้อย่างมากที่สุด  ผมคิดว่า  ถ้าเผื่อเรารักษาคนไข้คนเดียวก็ช่วยได้จำนวนหนึ่ง   แต่ถ้าหากเราสอนนักศึกษา ให้เขามีความรู้ความชำนาญ สิ่งที่ได้มันจะทวีคูณ เขาจะออกไปช่วยคนไข้ได้อีกมากมาย
          ...ผมมักจะสอนนักศึกษาแพทย์เสมอว่า  การที่คุณเป็นแพทย์  ถือว่าคุณมีโอกาสทองที่จะได้ทำกุศล  มันอยู่ที่ว่าคุณคิดจะทำแค่ไหน  บางทีเจอนักศึกษาแพทย์ขี้เกียจ  ผมก็จะบอกเขาว่า คุณได้สิทธิพิเศษนะ  คุณรู้ไหม ยกตัวอย่างเช่นคุณเป็นนักศึกษาแพทย์  คุณไปขอตรวจคนไข้  คนไข้ไม่ปฏิเสธหรอก  แต่ถ้าคุณขี้เกียจ  ไม่มาดูคนไข้เลย  ไปอยู่แต่หอพัก  มัวแต่ไปท่องข้อสอบแล้วมาสอบ  คุณก็ไม่ได้ช่วยเขา  และคุณก็ไม่ได้ความรู้จากเขา ตรงกันข้ามมีคนที่เขาเรียนไม่เก่ง  สอบเอ็นทรานซ์ไม่ติด  แต่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักศึกษาแพทย์   ปลอมตัวแต่งชุดแพทย์ไปคุยกับคนไข้  ก็โดนจับไป  เขาไม่มีสิทธิอย่างคุณแต่เขาอยากเป็นหมอเหลือเกิน  เพราะฉะนั้นคุณโชคดีที่มีโอกาสได้ช่วยคน คนอื่นเขาอยากช่วยแต่เขาไม่มีสิทธิ 
          ตอนนี้ผมอายุ 50 ปี   ผมคิดมาตลอดว่าถ้าผมมีโอกาสช่วยคน  ผมก็จะช่วย  ผมคิดว่าถ้าคุณจะหวังให้เขามารักคุณ ช่วยคุณ  คุณต้องช่วยเขาก่อน  ผมเป็นคนโชคดีที่ว่าเมื่อไรที่มีอุปสรรคมีความทุกข์   มักจะมีพรรคพวกเพื่อนฝูงช่วยไว้ ซึ่งก็อาจจะมาจากการที่เรารู้จักให้แก่คนอื่นก่อนก็เป็นได้”
          จากประสบการณ์การทำงานในฐานะสูติ-นรีแพทย์ ที่ได้พานพบกับคนไข้หลากหลาย  ศาสตราจารย์ นายแพทย์แสงชัย ได้กล่าวถึงงานด้านนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า
          “มันเป็นสาขาที่อาจจะแตกต่างจากวิชาแขนงอื่น  ที่เห็นชัดคือมีภาวะฉุกเฉินได้ตลอดเวลา  เจ็บท้องคลอดนี่มันไม่แน่นอน  อย่างกำลังจะกินข้าว  คนไข้เกิดเจ็บท้องจะคลอด   คนเขาจะเกิด  เราก็ต้องพร้อมสำหรับคนไข้ทุกเมื่อ นักศึกษาที่อยากจะเรียนด้านนี้ต้องยอมรับจุดนี้ให้ได้   อันที่สอง  การที่จะเป็นหมอสูติ คุณต้องดูแลสองชีวิต   จริงอยู่ แพทย์ อาจจะมี human error   บางทีก็ผิดพลาด   แต่ถ้าคุณพลาดเท่ากับคูณสอง   เป็นเรื่องใหญ่มาก   หมอสูติต้องมีลักษณะเด่นคือมีความผิดพลาดน้อยที่สุด   เพราะถ้าผิดพลาดคุณต้องคูณสองเสมอ  
          ส่วนที่มีความสุขก็มี  การทำคลอด  คุณได้เห็นเด็กคลอดออกมา  มันเป็นเรื่องที่มีความสุข  คุณทำให้เขาหมดทุกข์ทันที   เห็นเด็กออกมา สดใส น่ารัก เห็นพ่อแม่เขากอดจูบลูก   มันก็มีความสุขเหมือนกันนะ  ได้เห็นการเกิด เมื่อไรที่เห็นคนอื่นมีความสุข   แน่นอนเราก็มีความสุขไปด้วย   คนไม่มีลูก มีความทุกข์เยอะนะ   มีหลายคนพอทำให้เขาสำเร็จ  เขาดีใจมาก   บางคนไปเซ่นไหว้บนบรรพบุรุษที่เมืองจีนแน่ะ  เขาต้องไปแก้บนถึงโน่น  เขาเห็นว่าเรามีพระคุณกับเขา   มีอะไรเขาไม่เคยลืมเรา   นี่คือสิ่งที่ผมประทับใจและภูมิใจกับการเป็นสูติ-นรีแพทย์”
          จากงาน  “หัตถการ” ในห้องผ่าตัด  ที่ได้ช่วยเหลือคนไข้มากมายให้รอดพ้นจากความทุกข์ทรมาน   มือคู่เดียวกันนี้ของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์แสงชัย  พฤทธิพันธุ์  ก็ได้สร้างองค์ความรู้ที่มีคุณูปการต่อวงการแพทย์  นับเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดัน ที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างสร้างสรรค์ด้วย  “หัตถการในงานชีวิต”   ที่ประณีตงดงามอย่างแท้จริง....
 
หัตถการในงานชีวิต...ศ.นพ.แสงชัย พฤทธิพันธุ์ หัตถการในงานชีวิต...ศ.นพ.แสงชัย พฤทธิพันธุ์
 
ครอบครัวของ ศ.นพ.แสงชัย  ได้รับคัดเลือกเป็นครอบครัวตัวอย่างในวันครอบครัวสากล  จากสหพันธุ์ครอบครัวเพื่อความสามัคคีและสันติภาพโลก ณ ศูนย์ประชุมองค์การสหประชาชาติ ถ่ายภาพร่วมกับคุณยาย
(นาวาเอกพิเศษ แพทย์หญิงทรงศรี ฟุ้งเกียรติ)
 
หัตถการในงานชีวิต...ศ.นพ.แสงชัย พฤทธิพันธุ์
 
ศ.นพ.แสงชัย – รศ.พญ.อรุณวรรณ  พฤทธิพันธุ์  และลูกๆทั้งสาม  นวลวรรณ – นันทิชา – อุทัยวิทย์  
ถ่ายภาพร่วมกับคุณตา-คุณยาย นพ.สุหัท และนาวาเอกพิเศษ พญ. ทรงศรี ฟุ้งเกียรติ