นพลักษณ์ (Enneagram)

นพลักษณ์ (Enneagram)

นพลักษณ์ หรือ เอ็นเนียแกรม (Enneagram) มาจากภาษากรีก เอ็นเนีย (Ennea) แปลว่าเก้า และแกรม (Grammos) แปลว่า จุด เอ็นเนียแกรมจึงหมายถึง รูปดาวที่มี 9 จุด ใช้แสดงกระบวนการพัฒนาของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากจุดเริ่มต้นถึงจุดสิ้นสุด

เอ็นเนียแกรม เป็นศาสตร์โบราณอย่างหนึ่งที่ใช้ในการทำความเข้าใจผู้คนจากลักษณะบุคลิกภาพ กลไกทางจิตใจ แรงขับภายในหรือแรงจูงใจ ให้เกิดการแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ เอ็นเนียแกรม อธิบายบุคลิกลักษณะ 9 ประเภทที่แตกต่างกัน ซึ่งจะเรียกแต่ละประเภท (Type) ว่าลักษณ์

ลักษณ์ทั้งเก้าในเอ็นเนียแกรม

  • ลักษณ์ 1 คนสมบูรณ์แบบ (The Perfectionist) มองโลกนี้ไม่ได้ยอมรับเราตามที่เราเป็น แต่ให้การยอมรับที่ความประพฤติดี ความถูกต้องและความสมบูรณ์พร้อม ด้วยโลกทัศน์นี้แรงจูงใจของคนลักษณ์ 1 จึงเป็นการทำสิ่งต่าง ๆ ให้ดีที่สุด ถูกต้องที่สุดและเป็นไปตามมาตรฐาน ตามกฏเกณฑ์ที่ควรเป็น ต้องการความสมบูรณ์แบบ  มีมาตรฐานสูง ไม่ชอบความผิดพลาด มีนิสัยเจ้าระเบียบ เคร่งครัด ทำตามกฎกติกา ให้ความสำคัญกับศีลธรรม มักจะชอบหาข้อผิดพลาด และชอบวิพากษ์วิจารณ์ทั้งตนเองและผู้อื่น มีความคิดยึดติดการตัดสินว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด ดีหรือไม่ดี เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ซึ่งเกิดเป็นความรู้สึกขุ่นใจได้ง่าย สิ่งที่เป็นจุดเด่นของคนลักษณ์ 1 คือความรับผิดชอบ จริงจัง พยายามทำในสิ่งที่ถูกต้องและใส่ใจรายละเอียด
  • ลักษณ์ 2 ผู้ให้ (The Giver) มองโลกจะให้ความรักและเห็นคุณค่าของเราก็ต่อเมื่อเราเป็นฝ่ายหยิบยื่นให้ก่อนเท่านั้น ด้วยโลกทัศน์นี้คนลักษณ์ 2 จึงอยู่ที่การมีความสำคัญต่อผู้อื่น และเพื่อให้ได้รับความรักและความสำคัญ คนลักษณ์ 2 จึงอุทิศตนเพื่อตอบสนองความต้องการของคนสำคัญหรือคนพิเศษของตนเอง จนบางครั้งอาจละเลยความต้องการของตนเอง สิ่งที่เป็นจุดเด่นของคนลักษณ์ 2 คือความสามารถในสังเกตและรับรู้อารมณ์ความรู้สึกความต้องการของคนอื่น ชอบเอาใจใส่ดูแลผู้อื่น และมีความสามารถในการปรับตัว
  • ลักษณ์ 3 นักแสดง (The Performer) มองว่าโลกให้คุณค่าและชื่นชมผู้ประสบความสำเร็จ ความใส่ใจคนลักษณ์ 3 จึงอยู่ที่งาน เป้าหมายและความสำเร็จ ภาพลักษณ์ และภาพพจน์ที่ดีในสายตาคนอื่น โดยมักจะแสดงออกมาในรูปแบบของการมุ่งมั่น ทุ่มเทในการทำงาน ปรับตัวให้เป็นไปตามบทบาทต่าง ๆ ที่สวมได้อย่างดี พยายามหลีกเลี่ยงอารมณ์ความรู้สึกเพราะจะบั่นทอนประสิทธิภาพในการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย จุดเด่นของคนลักษณ์ 3 คือความมุ่งมั่น มีประสิทธิภาพในการทำงาน ผลักดันตนเองให้ทำตามเป้าหมาย
  • ลักษณ์ 4 คนโศกซึ้ง ปัจเจกชนผู้สร้างสรรค์ (The Tragic Romantic, The Creative Individualist) มองว่าโลกนี้มีแต่ความขาดพร่อง มีบางอย่างที่ขาดหายไป ความใส่ใจของคนลักษณ์ 4 จึงอยู่ที่การตามหาสิ่งที่ขาดหายไป ตามหาสิ่งที่เป็นอุดมคติ เปรียบเทียบสิ่งที่มองเห็นกับสิ่งที่เป็นอุดมคติ ทำให้มีอารมณ์เศร้าอยู่ลึกๆ ภายในตลอดเวลา คนลักษณ์ 4 จึงช่างฝัน มีอารมณ์อ่อนไหวง่ายและมีความลุ่มลึกทางอารมณ์ความรู้สึก โหยหาความรักความงดงามแบบอุดมคติที่งดงามลึกซึ้ง ซึ่งมักจะเป็นอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับความเศร้า เหงา หรือความผิดหวัง เป็นลักษณ์ที่ซื่อตรงกับความรู้สึกของตัวเอง มีลักษณะนิสัยที่ชอบอยู่กับความเศร้า มีอารมณ์ที่อ่อนไหว มักจะตัดสินใจและแสดงออกตามสภาวะอารมณ์ของตัวเอง
  • ลักษณ์ 5 นักสังเกตการณ์ (The Observer) มองว่าเวลา พลังงานและทรัพยากรของตนมีจำกัด และรู้สึกว่าถูกเรียกร้องและคุกคามจากโลกภายนอก จึงทำให้คนลักษณ์ 5 ใส่ใจไปกับการสงวนรักษาเวลา พลังงานและพื้นที่ส่วนตัว คนลักษณ์ 5 จึงมีนิสัยชอบเก็บตัว มีโลกส่วนตัวสูง ชอบสันโดษ ต้องการใช้เวลาอยู่เพียงลำพัง ไม่ต้องการให้ใครเข้ามาในพื้นที่ส่วนตัว พยายามลดความต้องการของตนเอง ไม่ต้องการอะไรมาก มักจะใช้เวลาไปกับการคิดวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ตามหลักเหตุผลมากกว่าอารมณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองรู้สึกถูกท่วมท้นจากอารมณ์ที่จัดการไม่ได้ ไม่ค่อยแสดงอารมณ์ความรู้สึกของตนเองออกมา เป็นคนที่คิดวิเคราะห์ได้ดี สามารถวางระบบ จัดการ และหาความรู้ได้อย่างเป็นหมวดหมู่ ชอบเรียนรู้อะไรเชิงลึกมากกว่าการรู้จักสิ่งต่าง ๆ อย่างผิวเผิน สามารถเริ่มทำงานได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพิงคนอื่นมากนัก
  • ลักษณ์ 6 นักปุจฉา คนช่างสงสัย (The Skeptic, The Doubter) มองโลกว่าเต็มไปด้วยอันตรายและความไม่แน่นอน จึงให้ความใส่ใจไปที่การป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากกิเลสพื้นฐานคือความกลัว เป็นลักษณ์ที่มีคำถามและสงสัยในเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัย ความกลัว ความไว้วางใจ ชอบคิดถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นเพื่อให้ตัวเองสามารถเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์เหล่านั้นได้ เสาะแสวงหาความมั่นคง ความแน่นอนและชัดเจน แต่การมองแต่ด้านลบจนลืมมองด้านบวกโดยเฉพาะความสามารถของตนเองที่สามารถรับมือกับปัญหานั้นได้ จึงมักทำให้เกิดความกังวล ความกลัว ความไม่มั่นใจเพราะขาดความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง
  • ลักษณ์ 7 นักเสพสุดยอด (The Epicure) มองว่าโลกนี้เต็มไปด้วยสิ่งที่น่าสนใจ โอกาสและทางเลือกต่างๆ มากกมาย เราจึงไม่ควรถูกจำกัด จึงทำให้ คนลักษณ์ 7 อยากลิ้มลองทุกอย่างที่ดีที่สุด โดยเฉพาะประสบการณ์ที่ให้ความสุข ความน่าตื่นเต้น ความพึงพอใจ มองหาความสุขในรูปแบบ ต่าง ๆ และวางแผนในหัวเพื่อให้ได้มันมา มักหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่มีความทุกข์ ความกังวล ความซ้ำซากจำเจน่าเบื่อหน่ายที่ตัวเองต้องเผชิญ มีลักษณะนิสัยสนุกสนานรื่นเริง สดใส มองโลกในแง่ดี มีพลังงานสำหรับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ชอบเรื่องตื่นเต้นเร้าใจ เก่งในการแก้ไขปัญหา มักจะมองหาสิ่งดี ๆ เพื่อให้ตัวเองมีความสุข กระฉับกระเฉง หลบหลีกเก่ง ไม่ชอบการถูกบังคับและกลัวการถูกจำกัด
  • ลักษณ์ 8 เจ้านาย (The Boss) มองว่าโลกไม่ได้มีแต่ความเป็นจริงที่สวยงาม เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียม คนที่อ่อนแอกว่าจะถูกเอาเปรียบจากคนที่เข้มแข็งกว่า ทำให้คนลักษณ์ 8 ชอบความแข็งแกร่ง ความเป็นนักสู้ในเรื่องที่คิดว่าไม่เป็นธรรม ไม่ชอบความอ่อนแอ กลัวการถูกเอาเปรียบจึงเรียนรู้ที่จะปกป้องตนเองและพวกพ้อง หรือสังคม ต้องการควบคุมสถานการณ์หรือสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ  ใช้ชีวิตอย่างสุดโต่ง เกินพอดีแบบไม่บันยะบันยัง ชอบปกป้องผู้อ่อนแอเพื่อแสดงออกถึงความยุติธรรม ชอบแสดงความโกรธหรือพลังอำนาจที่มีออกมาอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา มักจะมีลักษณะเสียงดัง แข็งแกร่ง มีอำนาจ และไม่เกรงกลัวสิ่งใด ๆ กล้าคิดกล้าทำ
  • ลักษณ์ 9 ผู้ประสานไมตรี (The Mediator) มองโลกว่าคนอื่น ๆ ในโลกทุกคนล้วนมีความสำคัญ เราจึงไม่ควรเรียกร้องความสำคัญให้กับตนเองมากเกินไป แต่ควรทำตัวให้สอดคล้องกลมกลืน คนลักษณ์ 9 จึงใส่ใจและให้ความสำคัญกับคนอื่นจนละเลยความต้องการของตนเอง ไม่ชอบความขัดแย้ง เป็นลักษณ์ที่มีลักษณะนิสัยชอบความสงบ สบาย ๆ ที่เป็นกันเอง บรรยากาศที่เป็นมิตร ประนีประนอม เข้ากับคนอื่นได้ง่าย ปรับตัวไปกับกลุ่มคนใหม่ ๆ ได้อย่างกลมกลืน เข้าใจมุมมองของคนแต่ละคน

นพลักษณ์กับความแข็งแกร่งในชีวิต

การเรียนรู้นพลักษณ์เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการพัฒนาตนเองเพื่อให้เข้าใจตนเองและเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น เข้าใจแรงจูงใจแรงผลักดันของพฤติกรรมต่าง ๆ ของทั้งตนเองและผู้อื่นทำให้เกิดการยอมรับในตนเองทั้งจุดดี จุดด้อย เรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเอง ยอมรับเข้าใจความแตกต่างของแต่ละคนทำให้เกิดการปรับตัวและสามารถเผชิญกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตได้มากขึ้น ซึ่งจากการศึกษาที่ผ่านมาก็พบว่านพลักษณ์เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อความแข็งแกร่งในชีวิต

เอกสารอ้างอิง

  • ธนา นิลชัยโกวิทย์. (2561). Basic Enneagram เพื่อความรู้สึกตัว. เอกสารประกอบการอบรมนพลักษณ์ TOT (Training of Enneagram Trainer) ในวันที่ 19- 21 มิถุนายน 2566.
  • พาล์มเมอร์, เฮเลน. (๒๕๔๖). ลักษณ์ทั้งเก้าในเอ็นเนียแกรม. ใน ธนา นิลชัยโกวิทย์ (บ.ก.). เอ็นเนียแกรมศาสตร์เพื่อความเข้าใจตนเองและผู้อื่น [Understanding yourself and the others in your life]  (วาจาสิทธิ์ ลอเสรีวานิช, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง. (ต้นฉบับพิมพ์ ค.ศ. 1988).
  • สมาคมนพลักษณ์ไทย. (๒๕๖๖). ทฤษฏีนพลักษณ์เบื้องต้น. เข้าถึงเมื่อ 1 พฤษภาคม 2566, จาก https://enneagramthailand.org/
  • Khan, Z. A.,  Borjali, B.,  Beliad, M., Alhussaini, K.A.  & Mashayekh, M. (2022). Presenting a structural model of predicting resilience based on enneagram personality types with the mediation of adaptive motivational structure in students, Journal of Islamic Life Style, 6(3), 110-119