ความแข็งแกร่งในชีวิต (Resilience)

"Who has never tasted what is bitter does not know what is sweet."

German Proverb

ชีวิตทุกชีวิตต่างก็ประสบกับสภาวการณ์เลวร้าย (Adversity) หรือเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียด (Stressful Life Event) แตกต่างกันไป ซึ่งอาจเป็น 1) สภาวการณ์จากภายนอก เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม คลื่นยักษ์ สงคราม สถานการณ์รุนแรงในสังคม และการอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพกาย/สุขภาพจิต ฯ หรือ 2) สภาวการณ์ภายในครอบครัว เช่น การหย่าร้าง การกระทำรุนแรงในครอบครัว และการไร้ที่อยู่อาศัย ฯ หรือ 3) สภาวการณ์ของแต่ละบุคคล เช่น ความเจ็บป่วย การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การกลัวถูกปฏิเสธ ความล้มเหลวในการงาน และการเรียน ในสภาวการณ์อันเลวร้ายที่เหมือน ๆ กัน บุคคลจะมีวิธีจัดการกับชีวิตแตกต่างกัน และผลลัพธ์จากการจัดการนั้นก็แตกต่างกันไป นั่นเป็นเพราะแต่ละบุคคลมีคุณลักษณะอย่างหนึ่งที่แตกต่างกัน คือ “ความแข็งแกร่งในชีวิต (Resilience)” ความแข็งแกรงในชีวิต (Resilience) เป็นศักยภาพหรือความสามารถของบุคคลในการยืนหยัดอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพท่ามกลางสภาวการณ์เลวร้ายในชีวิต (Adversity of Life) หรือเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดในชีวิต (Stressful Life Event) พร้อมทั้งสามารถที่จะฟื้นตัว และนำพาชีวิตของตนให้ผ่านพ้น จากการได้รับผลกระทบที่เกิดจากสภาวการณ์นั้นได้ในเวลารวดเร็ว อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เติบโตขึ้นและเข้าใจชีวิตมากขึ้น

องค์ประกอบของความแข็งแกร่งในชีวิต

จากการศึกษาของ Edith H. Grotberg เกี่ยวกับความแข็งแกร่งในชีวิต โดยการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างจาก 22 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าโครงสร้างของความแข็งแกร่งในชีวิตมี 3 องค์ประกอบหลัก ที่แต่ละคนจะดึงมาใช้เมื่อเผชิญกับสภาวการณ์เลวร้าย เพื่อจัดการกับปัญหา ลดความรุนแรง และเกิดการเรียนรู้จากกระบวนการที่ตนเองผ่านพ้นสภาวการณ์นั้น ก็คือ ‘I have’ ‘I am’ และ ‘I can’ โดยที่แต่ละองค์ประกอบหลักจะมีองค์ประกอบย่อย ดังนี้

  1. I have (ฉันมี...): เป็นแหล่งสนับสนุนภายนอกที่ส่งเสริมให้เกิดความแข็งแกร่งในชีวิต เช่น มีคนในครอบครัวและนอกครอบครัวที่สามารถไว้ใจ/เชื่อใจได้ มีคนที่จะคอยบอก/ สอน/ ตักเตือนถึงขอบเขตและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ชัดเจนในการทำอะไรต่าง ๆ เพื่อที่จะได้ไม่ทำในสิ่งที่อาจนำปัญหาและความยุ่งยากมาสู่ตนเอง มีตัวอย่างที่ดีในการทำสิ่งต่าง ๆ มีคนรอบข้างที่ทำให้เห็นว่าการกระทำที่ถูกที่ควรนั้นเป็นอย่างไร มีคนที่พร้อมจะให้กำลังใจและสนับสนุนให้เป็นตัวของตัวเอง มีบุคคล/แหล่งที่ให้การดูแลในเรื่องของสุขภาพ การศึกษา มีแหล่งให้ตนเองรับการบริการ/สวัสดิการทางสังคมและความปลอดภัย มีครอบครัวและชุมชนที่มั่นคง
  2. I am (ฉันเป็นคนที่...): เป็นความเข้มแข็งภายในของแต่ละบุคคล เช่น เป็นบุคคลที่สามารถที่จะรักและเป็นที่รักของผู้อื่นได้ มีความภาคภูมิใจในตนเอง มีพื้นอารมณ์ดี รู้จักเห็นอกเห็นใจและสามารถแสดงออกซึ่งความห่วงใยใส่ใจต่อผู้คนรอบข้าง พร้อมที่จะยอมรับและยกย่องผู้อื่น พร้อมที่จะรับผิดชอบในสิ่งที่กระทำและยอมรับผลของการกระทำนั้น คิดพิจารณาวางแผนในอนาคตที่เป็นไปได้ในความเป็นจริง มีความเชื่อมั่นว่าสิ่งต่าง ๆ จะเปลี่ยนไปในทางที่ดี เชื่อว่าชีวิตนี้ยังมีความหวังเสมอและมีความศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์
  3. I can (ฉันสามารถที่จะ...): เป็นปัจจัยด้านทักษะในการจัดการกับปัญหาและสัมพันธภาพระหว่างบุคคล เช่น จัดการกับปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เหมาะสม หาทางออกหรือวิธีการใหม่ ๆ ที่ใช้ในการจัดการกับปัญหาที่เผชิญอยู่ มุ่งมั่นในงานที่ทำอยู่จนกว่าจะสำเร็จ บอกผู้อื่นได้เกี่ยวกับความคิดความรู้สึกของตนเอง มีอารมณ์ขันเพื่อช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของตนเอง ขอความช่วยเหลือจากใครสักคนได้ในเวลาที่ต้องการ รู้จักเลือกจังหวะเวลาและรู้กาลเทศะ

ลักษณะของบุคคลที่มีความแข็งแกร่งในชีวิต

  1. มีมุมมองทางบวกต่อสิ่งต่าง ๆ เต็มไปด้วยความหวัง มองการเปลี่ยนแปลงหรือความเครียดว่าเป็นสิ่งที่ท้าท้ายหรือเป็นโอกาส
  2. ยอมรับจุดดี จุดด้อยของตนเอง รับรู้ความสามารถของตนเองและรับผิดชอบผลที่เกิดจากการกระทำของตน
  3. มีทักษะในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ มีอารมณ์ขัน สามารถควบคุมสถานการณ์ ควบคุมความรู้สึกของตนเองได้ ตระหนักถึงข้อจำกัดในการควบคุมตนเอง
  4. มีพลังสร้างสรรค์ผลงาน แม้ในสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวย 
  5. อดทน มีความซื่อสัตย์ มีคุณธรรม พัฒนาตนเองไม่ว่าจะมีอุปสรรคมากมาย
  6. มีความสัมพันธ์ที่คงเส้นคงวากับผู้อื่น มีทักษะติดต่อสื่อสารที่ดี เข้าใจอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
  7. ให้ความสำคัญกับการมีเป้าหมายในการดำเนินชีวิต สามารถกำหนดเป้าหมายที่เป็นไปได้ในชีวิต
  8. เชื่อมั่นในตนเอง และภาคภูมิใจในครอบครัว
  9. นำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากอดีตมาใช้ในการดำเนินชีวิตในปัจจุบันและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

  • พัชรินทร์ นินทจันทร์ (บรรณาธิการ). (๒๕๕๘). ความแข็งแกร่งในชีวิต แนวคิด การประเมิน และการประยุกต์ใช้. กรุงเทพฯ: จุดทอง.
  • พัชรินทร์ นินทจันทร์, โสภิณ แสงอ่อน, จริยา วิทยะศุภร, นพวรรณ เปียซื่อ, ทัศนา ทวีคูณ, และ พิศสมัย อรทัย. (๒๕๕๒). คู่มือเสริมสร้างความแข็งแกร่งในชีวิต (Enhancing Resilience). โครงการพัฒนาศักยภาพประชากรไทย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. กรุงเทพ: จุดทอง.
  • Grotberg, E. H. (1997). The International resilience project: Findings from the research and the effectiveness of interventions. Retrieved September 15, 2009, from https://files.eric.ed.gov/fulltext/ED419584.pdf
  • Grotberg, E. H. (1999). Tapping your inner strength: How to find the resilience to deal with anything. Oakland: New Harbinger.
  • Grotberg, E. H. (2005). Resilience for tomorrow. Retrieved September 15, 2009, from http://resilnet.uiuc.edu/library/grotberg2005_resilience-for-tomorrow- brazil.pdf