ข่าวการจากไปของผู้คนมากมาย ... ด้วยสาเหตุจากภาวะซึมเศร้า หากเขาเหล่านั้นคือคนที่คุณรัก ... เราอาจช่วยเขาได้ วันนี้เราจะมาพูดคุยกับ รองศาสตราจารย์ ดร.พัชรินทร์ นินทจันทร์ ผู้ริเริ่มโครงการดี ๆ อย่าง ARE U OK? โครงการสายด่วนให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต

 

ข่าวการจากไปของผู้คนมากมาย ... ด้วยสาเหตุจากภาวะซึมเศร้า หากเขาเหล่านั้นคือคนที่คุณรัก ... หรือคนที่คุณรู้จักเราอาจช่วยเขาได้ ... วันนี้เราจะมาพูดคุยกับ รองศาสตราจารย์ ดร.พัชรินทร์ นินทจันทร์ หัวหน้าสาขาวิชาการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต ผู้ริเริ่มโครงการดี ๆ อย่าง ARE U OK? โครงการสายด่วนให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต 02-078-9088

ทำไมในปัจจุบันคนถึงเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น

“ในปัจจุบันการระบาดของโรคโควิด-19 น่าจะเป็นสาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นของโรคซึมเศร้า เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตของบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคมและเศรษฐกิจในวงกว้างทั่วโลก เช่น ความเศร้าโศกจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ความรู้สึกโดดเดี่ยวว้าเหว่จากการเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นเวลานาน การสูญเสียรายได้จากการต้องออกจากงานหรืองานที่เคยทำต้องปิดตัวลงจากการระบาด ความกลัวการติดเชื้อและความกลัวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง การที่ต้องเผชิญกับความเครียดและการปรับตัวอย่างมาก ประกอบกับการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ โดยเฉพาะบุคคลที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตที่ต้องการการช่วยเหลือ มีความยากลำบากมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งเสริมให้ในปัจจุบันคนจึงเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น”  

ทำอย่างไรที่จะลดหรือป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายในผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าหรือผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า

“ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือผู้ที่มีภาวะซึมเศร้ารุนแรง เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากที่สุด มากกว่าคนทั่วไปถึงประมาณ 20 เท่า การป้องกันบุคคลกลุ่มที่มีความคิดฆ่าตัวตาย ไม่ให้กระทำการฆ่าตัวตายจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้นเราควรประเมินความรู้สึกที่ไม่อยากมีชีวิตอยู่ของคนรอบข้างที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย (ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า/ ผู้มีภาวะซึมเศร้า/ ผู้ที่มีประวัติฆ่าตัวตาย) เป็นระยะ ๆ ใส่ใจรับฟัง อย่ามองข้ามปัญหาของเขา และดำเนินการส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญทางจิตเวชและสุขภาพจิตดูแลรักษาเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ หรืออย่างน้อยให้บุคคลเหล่านี้ได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญที่ให้บริการให้การปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตในขั้นต้นก่อน ซึ่ง Are U OK? (โทร. 02-078-9088) ของโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ก็เป็นบริการหนึ่งที่ให้การปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตทุกวัน เวลา 8.00-16.00 น ค่ะ”

หากไม่ใช่คนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โทร. เข้ามาปรึกษา แต่เป็นญาติที่โทร. มาแทน จะมีวิธีให้คำแนะนำในการช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างไร

ถ้าท่านเป็นบุคคลหนึ่งที่มีคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ขอแนะนำดังนี้ค่ะ

“ความเข้าใจ ความคาดหวัง และท่าทีที่เราแสดงออกต่อผู้ป่วย: ญาติต้องเข้าใจว่าภาวะที่เขาเป็นนี้ไม่ใช่ภาวะที่มีอารมณ์เศร้าธรรมดา หรือเป็นจากที่เค้าอ่อนแอมากเกินไป  แต่เค้ากำลังไม่สบาย เป็นภาวะของความผิดปกติ ที่เขากำลัง “ป่วย” ซึ่งมันมีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีบางอย่างในร่างกายทำให้เกิดมีอาการต่าง ๆ ตามมาทั้งทางกายและใจ แต่ถ้าเค้าได้รับการรักษาแล้ว อาการต่าง ๆ จะทุเลาลงจนค่อย ๆ หายไป การมองสิ่งรอบตัวก็จะเปลี่ยนไปในทางบวกมากขึ้น อารมณ์เศร้าก็จะลดลง จิตใจแจ่มใสขึ้น   ดังนั้นความคาดหวังและท่าทีต่าง ๆ ของญาติที่แสดงออกต่อผู้ป่วยมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองแย่มากขึ้นหรือรู้สึกว่าเป็นภาระแก่ผู้อื่นอันจะยิ่งทำให้ให้จิตใจผู้ป่วยตกอยู่ในความทุกข์มากขึ้น”

“รับฟังผู้ป่วยด้วยความเข้าใจ ใส่ใจ โดยไม่ตัดสินผู้ป่วย  พูดคุยกับผู้ป่วยด้วยท่าทีที่สบาย ๆ ไม่กดดัน ไม่คาดหวัง แสดงให้เค้ารู้ว่าเรายินดีและพร้อมที่จะช่วยเหลือเขาด้วยความจริงใจ ให้การยอมรับในความคิด  พฤติกรรม หรือคำพูดที่ไม่เหมาะสม พยายามหลีกเลี่ยงการตำหนิ พยายามฟังให้มากที่สุด เพื่อทำให้เราเข้าใจถึงความคิดความรู้สึกของเขาที่กำลังเกิดขึ้น เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ระบายความคิดความรู้สึกต่าง ๆ ออกมา อันจะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดในใจลงได้ และ ให้คำชื่นชมทุกครั้งในสิ่งที่ดี ๆ หรือแม้แต่ความสำเร็จเพียงเล็กน้อย เพื่อทำให้เขารู้สึกมีคุณค่าในตนเองเพิ่มขึ้น”

“ถ้าผู้ป่วยมีอารมณ์ซึมเศร้ามาก จนไม่ทำอะไร ควรชวนเค้ามาทำกิจกรรมผ่อนคลาย ออกกำลังกาย เพื่อจะได้ไม่หมกมุ่นอยู่กับอารมณ์ตนเองมากเกินไป”

“สอบถามถึงความคิดในการทำร้ายตนเอง หากพบว่ามีความเสี่ยงต้องส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญทางจิตเวชและสุขภาพจิตดูแลรักษาเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้   เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้หากได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม ผู้ป่วยก็จะมีอาการดีขึ้นและสามารถจะใช้ชีวิตร่วมกับเราได้อย่างมีความสุขต่อไป”

“อย่าลืมดูแลร่างกายและจิตใจของตนเองด้วย เพราะบางครั้งเราอาจเก็บเรื่องเขามาคิดมาก จนส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพจิตของเราด้วย”

ผู้ที่จะมาตอบคำถามใน Are U OK? Call Center นี้เป็นใคร และสถิติในการโทร.เข้ามา มากน้อยเพียงใด

“ผู้ที่จะมาตอบคำถามใน Are U OK? เป็นทีมคณาจารย์จากสาขาวิชาการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต”

“จากการเปิดให้บริการตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2564 ถึง มกราคม 2565 พบว่ามีจำนวนสายที่โทรเข้ามารับการปรึกษา 961 สาย ใช้ระยะเวลาในการให้การปรึกษาครั้งละ 30 นาที ถึง 90 นาที”

“ปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชของผู้ที่โทรมาขอรับการปรึกษา ส่วนใหญ่มีดังนี้” 

  • ผู้ป่วยจิตเวชมีภาวะซึมเศร้า มีความคิดฆ่าตัวตาย
  • วิตกกังวล มีอาการย้ำคิดย้ำทำ
  • นักเรียนวัยรุ่นมีภาวะซึมเศร้า
  • ผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเวชเด็กมีความเครียด
  • วิตกกังวลเรื่องการดูแลตนเองในช่วงการระบาดของ โรคโควิด-19
  • วิตกกังวลเมื่อมีคนในครอบครัวติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
  • ผู้สูงอายุมีความเครียด เบื่อ ที่ต้องอยู่แต่ในบ้านช่วง Lockdown
  • ผู้ดูแลมีความเครียดในการดูแลผู้สูงอายุ
  • มีปัญหาเรื่องการทำงาน ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน
  • เครียดเรื่องปัญหาเศรษฐกิจและหนี้สิน ตกงาน
  • ปัญหาสัมพันธภาพกับแฟน
  • มีความวิตกกังวลเรื่องอาการข้างเคียงของวัคซีน
  • คุณแม่ปรึกษาปัญหาเรื่องลูกเรียนออนไลน์แล้วเครียด มีปัญหาพฤติกรรม ฯลฯ

สายด่วนของเราให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร แม้ว่าคุณจะไม่ใช่ผู้ป่วย แต่คุณ...อาจเป็นอีก 1 กำลังสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น และผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตไปได้ ไม่รู้จะโทรหาใคร ไม่มีใครรับฟัง แก้ไขปัญหาไม่ได้ Call หาเราที่ 02-078-9088 สายนี้รอคุณอยู่ค่ะ

#พยาบาลรามาธิบดี #พยาบาลแห่งอนาคต #บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต #Are U OK?