บทสัมภาษณ์รองศาสตราจารย์ ดร.สุปรีดา มั่นคง อาจารย์พยาบาลสาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ที่ได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยที่ 75 (World Health Assembly: WHA75) ณ สำนักงานสหประชาชาติ (Palais des Nations) นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

 

บทสัมภาษณ์รองศาสตราจารย์ ดร.สุปรีดา มั่นคง อาจารย์พยาบาลสาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ที่ได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยที่ 75 (World Health Assembly: WHA75) ณ สำนักงานสหประชาชาติ (Palais des Nations) นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 22 – 28 พฤษภาคม 2565

ในฐานะที่ได้รับโอกาสที่เป็นผู้แทนประเทศสมาชิกที่ได้ไปเข้าร่วมหารือแลกเปลี่ยนในวาระสำคัญด้านสุขภาพและสาธารณสุข มีความรู้สึกและความคิดเห็นอย่างไรบ้าง?

รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนจากสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับสภาการพยาบาล และกองการพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบในการนำเสนอท่าทีของประเทศไทย ในระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยที่ 75 ทั้งหมด 3 วาระ วาระกำลังคนด้านสุขภาพ วาระการปรับปรุงระเบียบข้อบังคับของเจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลก และวาระรายงานผลการประเมินองค์การอนามัยโลกโดยทีมภายนอก ประเทศไทยเป็นผู้แทนกลุ่มประเทศขององค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวแสดงท่าที ในวาระกำลังคนด้านสุขภาพ (human resource for health) โดยมีข้อเสนอให้ WHO และประเทศสมาชิกเร่งดำเนินการใน 3 ประเด็นเพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิของกำลังคนด้านสุขภาพ ดังนี้

  1. เร่งการดำเนินงานตามกลยุทธ์โลกด้านกำลังคนทางสุขภาพปี 2030
  2. ให้แต่ละประเทศนำหลักปฏิบัติขององค์การอนามัยโลกในการสรรหาบุคลากรทำงานต่างประเทศอย่างเป็นธรรม รวมถึงการนำแนวทางการดูแลปกป้องบุคลากรและผู้ดูแลด้านสุขภาพ (Global health and care worker compact) และ
  3. มีการติดตามข้อมูลด้านต่าง ๆ ของกำลังคนอย่างมีประสิทธิภาพ

กลยุทธ์ทางด้านทรัพยากรบุคคล (Human resource strategy) ของ WHO 3 ประเด็นหลักที่สามารถนำมาปรับใช้กับทุกหน่วยงาน ได้แก่

  1. ดึงดูดผู้มีความสามารถ (attracting talent)
  2. รักษาผู้ที่มีความสามารถ (retaining talent) และ
  3. ส่งเสริมที่เอื้ออำนวย สภาพแวดล้อมการทำงาน (fostering an enabling working environment)

ให้มีนโยบายความเสมอภาคทางเพศ ป้องกันและจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งการดูแลทางด้านร่างกาย จิตใจของบุคลากรในระหว่างการแพร่ระบาดของ COVID-19

มีการเตรียมความพร้อมในการประชุมครั้งนี้อย่างไรบ้าง?

กองการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (International Health Policy Program–IHPP) ได้จัดประชุมเตรียมผู้แทนไทยที่เข้าร่วมให้มีความพร้อมในการเตรียมนำเสนอท่าทีของประเทศไทยในแต่ละวาระ การอ่านทำความเข้าใจเอกสารและการสืบค้นเอกสารที่เกี่ยวข้อง การมีที่ปรึกษาทั้ง Coach และ Mentor ในการร่างการนำเสนอที่ได้รับผิดชอบ ซึ่งร่างการนำเสนอได้ผ่านการไตร่ตรองจากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญก่อนที่จะนำเสนอท่าทีของประเทศไทย ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานขององค์กรวิชาชีพทางด้านสุขภาพที่ทำงานร่วมกันทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาคและนานาชาติ ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก เพื่อสุขภาพของประชาชน
สุดท้ายนี้ขอขอบคุณสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ ที่สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยที่ 75 และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่อนุมัติเวลาในการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ค่ะ

#พยาบาลรามาธิบดี #พยาบาลแห่งอนาคต #การประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยที่ 75 #สหประชาชาติ