บทสัมภาษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิไล นาป่า ผู้ช่วยผู้อำนวยการฯ ด้านกิจการพิเศษและศิลปวัฒนธรรม และ อาจารย์พยาบาล สาขาวิชาการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต

 

บทสัมภาษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิไล นาป่า ผู้ช่วยผู้อำนวยการฯ ด้านกิจการพิเศษและศิลปวัฒนธรรม และ อาจารย์พยาบาล สาขาวิชาการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต

วิธีรับมือกับสถานการณ์โควิด ที่กลับมาระบาดอีกครั้ง เราจะมีวิธีการดูแลจิตใจตัวเองและคนในครอบครัวอย่างไรคะ?

ในช่วงที่ผ่านมาเราได้รู้จักโควิด-19 และมีประสบการณ์อยู่กับโควิด-19 มานานพอสมควร ดังนั้น เรื่องข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการระบาด ความรุนแรงของโรค และวิธีการป้องกันนั้นเราทำได้ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว แม้บางคนหรือบางครอบครัวจะมีผู้ป่วยอยู่ด้วยที่ดูแลกันได้ดี แต่จากการที่อยู่ในสถานการณ์ การระบาดที่ไม่แน่นอน ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดหรือจบเลย ยิ่งทำให้เราเริ่มเหนื่อยล้า เครียด หรืออาจมีความกังวลเรื้อรัง ดังนั้นการเริ่มสังเกตอาการ กดดัน นอนไม่หลับ จิตใจไม่เป็นสุข หมดพลัง จะเป็นอาการที่เราต้องหันมาดูแลใส่ใจ “สภาพจิตใจ” ของเราและของคนในบ้าน เราควรไถ่ถามความไม่สบายใจของกันและกัน ให้เวลาทำกิจกรรมเล็กน้อย ที่ไม่เพิ่มความเสี่ยงในการรับเชื้อ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ร่วมกันในบ้าน ทำอาหารกินกันในบ้านบ้าง หรือ ทำสวนปลูกต้นไม้ ลดการรับข่าวสารเกี่ยวกับโรคโควิด-19 บ้าง ก็จะดีต่อใจของเราค่ะ

การควบคุมสภาวะจิตใจให้รอดก้าวผ่านช่วงโควิดได้อย่างมีความสุข ท่านอาจารย์มีวิธีแนะนำประชาชนอย่างไรบ้างคะ?

การควบคุมสภาวะจิตใจให้เป็นสุขในสถานการณ์เช่นนี้ จริง ๆ แล้ว ทำได้ง่าย ๆ ในทุก ๆ วัน ตื่นตอนเช้านั่งนิ่ง ๆ ทำใจให้สบายแล้วบอกกับตัวเองว่า “วันนี้เราสดชื่น มีพลัง ที่จะจัดการทุกอย่างให้ลุล่วงไปด้วยดี คือ เป็นการพูดให้พลังตนเองในเชิงบวก เติมพลังงานให้ตนเองอย่างเต็มที่ในทุก ๆ เช้า แล้วในระหว่างวันก็ควรจัดการงานทุกอย่างให้เต็มที่เช่นกัน หากมีสิ่งใดมากระทบก็ให้ใช้การหายใจ พักสักครู่แล้วทำต่อ ส่วนในตอนเย็นอาจจะทำกิจกรรมผ่อนคลายเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้จิตใจได้พัก ลดการรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคโควิด-19 สนใจสิ่งอื่นที่ไม่ใช่งานก็จะช่วยให้เราได้ผ่อนคลาย ส่วนก่อนนอนก็เติมพลังให้ตนเอง นั่งนิ่ง ๆ สัก 5-10 นาที บอกตัวเองว่า เราแกร่งและเก่งที่ผ่านวันนี้มาได้” เป็นการพูดเชิงบวกให้พลังกับตนเองตั้งแต่เช้าจนจบวันในแต่ละวันค่ะ

#พยาบาลรามาธิบดี #พยาบาลแห่งอนาคต #โควิด-19 #การควบคุมสภาวะจิตใจ