Home Isolation: การกักตัวผู้ป่วยที่บ้าน

Volume: 
ฉบับที่ 42 เดือนตุลาคม 2564
Column: 
Camera Diary
Writer Name: 
นันทิตา จุไรทัศนีย์

    ท่ามกลางแสงสว่างจากหลอดไฟ ตรงกันข้ามกับความมืดภายนอกอาคาร ฉันนั่งมองเข็มนาฬิกาที่เดินไปอย่างช้า ๆ เข็มวินาทีค่อย ๆ ขยับไปทีละนิดจนไปทับกับเข็มสั้นและเข็มยาว เวลากำลังผ่านพ้นเที่ยงคืนไป นั่นบ่งบอกให้รู้ว่าได้ผ่านไปแล้วอีก 1 วัน และได้เข้าสู่วันใหม่อีกครั้งหนึ่งเหมือนเช่นทุก ๆ วันที่ผ่านมา 
    หน้าห้องฉุกเฉินในวันนี้ได้ถูกปิดกั้นด้วยแผงกั้นถนนหรือแบริเออร์ (Barrier) สีส้มเรียงรายเป็นแถวยาวตลอดแนวทางเข้าห้องฉุกเฉิน ซึ่งเป็นการปิดห้องฉุกเฉินชั่วคราวเนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนมากที่มารับการรักษา มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ป่วยเป็นผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19 ที่มีอาการหนัก และยังไม่มีเตียงรองรับเนื่องจากเตียงในโรงพยาบาลก็ไม่เพียงพอเช่นเดียวกัน
    ฉันเดินกลับมาที่แผนกการกักตัวผู้ป่วยที่บ้าน หรือ Home Isolation อันเป็นที่ทำงานของฉันตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ยอดผู้ป่วยปัจจุบันของผู้ป่วยที่ได้รับการกักตัวที่บ้านมีเกือบ 1,000 ราย ความรุนแรงมีทั้งระดับสีเขียว สีเหลือง และสีแดง
    ฉันคิดถึงผู้ป่วยที่บ้านของฉัน หากในคืนนี้มีผู้ป่วยที่อาการแย่ลงและจำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ฉันจะต้องทำอย่างไร ฉันวางแผนและวางลำดับขั้นตอนในใจตามแนวทางปฏิบัติของโรงพยาบาล ซึ่งเป็นมาตรฐานในการทำงานเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย
    ความเงียบสงัดตอนตี 1 ถูกแทรกขึ้นด้วยเสียงโทรศัพท์ เสียงจากปลายทางฟังดูร้อนรน เธอแนะนำตัวเองว่าเป็นลูกสาวของผู้ป่วยคนหนึ่งที่ติดเชื้อ COVID-19 และอยู่ในความดูแลของ Home Isolation 
    คุณแม่ของเธอติดเชื้อมาแล้ว 1 สัปดาห์ ความรุนแรงอยู่ในระดับสีแดง เริ่มมีปัญหาเรื่องระดับออกซิเจนในเลือดลดลงในช่วงเช้า โดยใช้วิธีการวัดระดับออกซิเจนจากปลายนิ้ว ทาง Home Isolation ได้ส่งเครื่องผลิตออกซิเจนที่บ้านไปให้ผู้ป่วย แพทย์โรคติดเชื้อพยายามหาเตียงให้เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาล หากแต่ว่ามีผู้ป่วยที่อาการหนักกว่านั้นกำลังรับการรักษาอยู่จนเตียงเต็ม จึงจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยเข้าอยู่ในรายชื่อที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นรายต่อ ๆ ไป
    “ตอนนี้แม่หนูเหนื่อยมากค่ะ หายใจแรงมาก หนูจะทำยังไงดี” 
    ฉันประเมินอาการเบื้องต้นจากการให้ข้อมูลของญาติทางโทรศัพท์ ผู้ป่วยไม่มีไข้ หายใจโดยใช้ออกซิเจนจากเครื่องผลิตออกซิเจน 3 ลิตรต่อนาที แต่ระดับออกซิเจนปลายนิ้วเริ่มลดต่ำลงประมาณ 93-94% (ค่าปกติอยู่ที่ 95-100%) ชีพจรเต้นเร็ว ฉันคิดว่าคนไข้อาการไม่คงที่ อาจมีโอกาสแย่ลงได้ จึงรายงานแพทย์เวรเพื่อให้การรักษาต่อ
    คุณหมอตรวจผู้ป่วยทางไกลผ่านโทรศัพท์ โดยเปิดกล้องโทรศัพท์เพื่อประเมินอาการ ผู้ป่วยดูหายใจเหนื่อยอย่างชัดเจน หน้าอกกระเพื่อมขึ้นลงตามแรงหายใจที่เหนื่อยหอบ ที่สำคัญผู้ป่วยเริ่มซึมหลับมากขึ้น เรียกปลุกตื่นยาก อันเป็นอาการที่น่ากังวลมากทีเดียว
    เบื้องต้นคุณหมอให้เพิ่มออกซิเจนเป็น 5 ลิตรต่อนาที ออกซิเจนปลายนิ้วเพิ่มขึ้นมา 95-96% แต่ชีพจรยังคงเร็วอยู่ พิจารณาแล้วว่าต้องรับผู้ป่วยเข้าทำการรักษาในโรงพยาบาล แพทย์เวรจึงโทรศัพท์ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ ส่วนฉันโทรศัพท์ประสานงานที่ห้องฉุกเฉินเพื่อเตรียมรับผู้ป่วย  
    แต่เนื่องจากบ้านคนไข้อยู่ในเขตปริมณฑลที่มีระยะทางไกลจากโรงพยาบาลค่อนข้างมาก เราจึงให้ญาติเตรียมเดินทางไปโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านมากที่สุดเผื่อเกิดกรณีฉุกเฉินที่รอไม่ได้
    ใกล้ ๆ ตีสอง โทรศัพท์ดังขึ้นอีกครั้ง “หมอ ๆ แม่หนูแย่แล้ว เรียกไม่ตื่นแล้ว ทำยังไงดี บ้านหนูอยู่ในชุมชน รถเข้าไม่ได้ แล้วหนูก็แบกแม่ออกไปไม่ไหวด้วย ตอนนี้ที่บ้านมีหนูกับแม่สองคนที่ติดเชื้อ คนอื่นเค้าไม่กล้าเข้ามาช่วยเลย”
    ปัญหาที่ฉันกังวลก็เกิดขึ้นจนได้ COVID-19 เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย ไม่แปลกที่ไม่มีใครอยากเข้ามาใกล้ แต่ก็ต้องแลกด้วยการสูญเสียโอกาสในการช่วยเหลือผู้ป่วย
    “พยาบาลกำลังรีบประสานงานให้อย่างเร่งด่วนที่สุดค่ะ” ใจฉันวิ่งไปถึงบ้านคนไข้แล้ว แต่ตัวฉันจริง ๆ นั้นยกโทรศัพท์ขึ้นอีกครั้งเพื่อประสานงานกับทีมกู้ชีพ
    เนื่องจากคนไข้อาการไม่ดีนัก การนำรถพยาบาลออกไปรับจำเป็นต้องมีทีมกู้ชีพหรือ EOS (Emergency On Solution) ซึ่งประกอบด้วยแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินและนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ (Paramedic) เพื่อเตรียมพร้อมในการกู้ชีพตั้งแต่ที่บ้าน บนรถพยาบาล จนกระทั่งถึงห้องฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงทีและมีความปลอดภัยมากที่สุด
    ทีมกู้ชีพเตรียมอุปกรณ์การแพทย์อย่างรวดเร็ว แต่งตัวด้วยชุดป้องกันส่วนบุคคล PPE (Personal Protective Equipment) ก้าวขึ้นรถพยาบาล พร้อมออกเดินทางในทันที


    โทรศัพท์ดังขึ้นอีกครั้ง ฉันรับด้วยจิตใจตุ๊ม ๆ ต่อม ๆ กลัวว่าจะมีข่าวร้ายจากปลายทาง 
    “หมอ ! แม่ผมจะตายแล้วนะ เมื่อไหร่จะมาสักที จะให้แม่ตายอยู่ที่บ้านหรอ !!!”  เสียงจากปลายทางบอกให้รู้ถึงความขุ่นมัว
    “ตอนนี้อาการคุณแม่เป็นยังไงบ้างคะ” 
    “ผมไม่รู้หรอก ผมอยู่อีกบ้าน แต่น้องสาวผมโทรมาบอกว่าแม่แย่แล้วเนี่ย เมื่อไหร่จะมากัน”
    “ตอนนี้ทีมกู้ชีพออกไปรับคุณแม่แล้วนะคะ ถ้าอาการเปลี่ยนแปลงยังไงรบกวนให้น้องสาวที่อยู่กับคุณแม่โทรแจ้งพยาบาลนะคะ”
    “ออกมาแล้วหรอ งั้นก็ใกล้จะถึงแล้วสินะ”  แล้วปลายทางก็วางโทรศัพท์ลง ความเงียบได้เข้ามาปกคลุมอีกครั้งหนึ่ง ฉันค่อย ๆ วางหูโทรศัพท์ลง ทำความเข้าใจถึงความโกรธที่เกิดขึ้นของญาติ ไม่ว่าใคร หากผู้เป็นที่รักตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ก็ย่อมมีอารมณ์กันได้บ้าง
    โชคดีที่ในยามมืดมิดเช่นนี้และเป็นช่วงเวลาเคอร์ฟิวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาล ทำให้ถนนทั้งสายโล่งเป็นอย่างดี คันเร่งของรถพยาบาลถูกเหยียบเกือบมิด แต่ด้วยระยะทางที่ไกลจึงต้องใช้เวลาเกือบชั่วโมง
    ฉันโทรศัพท์ไปหาลูกสาวของคนไข้ สอบถามอาการเป็นระยะ ด้วยกลัวว่าอาการของคนไข้จะแย่ลงระหว่างรอรถพยาบาล
    ตีสามกว่า ลูกสาวของคนไข้แจ้งว่ารถพยาบาลมาถึงหน้าชุมชนแล้ว หมอกำลังเดินเท้าเข้ามาพร้อมรถเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เนื่องจากทางเข้าชุมชนแคบมาก รถพยาบาลไม่สามารถเข้ามาถึงบ้านได้
    ตีสี่ผ่านไป โทรศัพท์ดังขึ้นอีกครั้ง เสียงของผู้ชายคุ้นหูดังขึ้น 
    “หมอ.... รถพยาบาลมารับแม่ผมไปแล้วนะ ผม.... ผมโทรมาขอบคุณ ขอบคุณนะหมอ”
    “ยินดีค่ะ”  ฉันตอบสั้น ๆ แต่มีความหมายเช่นนั้นจริง ๆ
    เกือบตีห้า ทีมกู้ชีพโทรศัพท์มาแจ้งว่าใกล้ถึงห้องฉุกเฉินแล้ว ผู้ป่วยปลอดภัย ห้องฉุกเฉินพร้อมรับผู้ป่วยในความดูแลต่อไป และทีมกู้ชีพยังใจดี นำเครื่องผลิตออกซิเจนที่บ้านที่ผู้ป่วยใช้งานนำมาคืนให้ Home Isolation เพื่อให้ผู้ป่วยคนอื่น ๆ ได้ใช้งานต่อไป เนื่องจากสถานการณ์ในตอนนี้เครื่องผลิตออกซิเจนที่บ้านมีความจำเป็นมาก
    แสงจากดวงอาทิตย์ค่อย ๆ ทอแสงในย่ำรุ่ง หน้าห้องฉุกเฉินในตอนนี้ได้เปิดพร้อมรับผู้ป่วยอีกครั้ง แผงกั้นถนนหรือแบริเออร์ (Barrier) สีส้มที่เรียงรายเป็นแถวยาวตลอดแนวทางเข้าห้องฉุกเฉินถูกนำออกไป 
    ฉันเดินกลับมาที่หน่วยกักตัวผู้ป่วยที่บ้านหรือ Home Isolation อีกครั้งด้วยชุด PPE พร้อมกับเครื่องผลิตออกซิเจนที่บ้านที่ถูกห่อหุ้มเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ และเตรียมนำไปทำความสะอาดเพื่อส่งต่อไปยังผู้ป่วยคนต่อไป

    เสียงเพลงชาติดังขึ้นเมื่อแปดนาฬิกา ฉันลงเวรด้วยความรู้สึกที่บอกไม่ถูก หลายอย่างถูกอัดแน่นอยู่ในใจ หลากหลายความรู้สึกที่ประดังประเดเข้ามาตลอดทั้งคืน แต่ทุกอย่างที่ผ่านพ้นไปทำให้ฉันรู้สึกถึงคุณค่าในงานที่ทำท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ที่รุนแรง ทุกชีวิตมีความหมายและฉันจะพยายามทำให้ความหมายของทุกชีวิตมีค่าต่อไป นั่นทำให้ฉันยังคงมีพลังและมีความมุ่งมั่นที่จะนำพาผู้ป่วยฝ่าฟันวิกฤตเหล่านี้ไปด้วยกัน จนกว่า COVID-19 จะผ่านพ้นไป
 

ดาวน์โหลดเพื่ออ่านรูปแบบ PDF: 
  เนื้อหาแนะนำ
เนื้อหาภายในฉบับที่ 42