“พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์” ศูนย์กลางพุทธศาสนา ณ พุทธมณฑล

Volume: 
ฉบับที่ 44 เดือนเมษายน 2565
Column: 
Camera Diary
Writer Name: 
เรื่องและภาพ โดย ดนัย อังควัฒนวิทย์

 

“พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์” ศูนย์กลางพุทธศาสนา ณ พุทธมณฑล

“พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์”  ศูนย์กลางพุทธศาสนา ณ พุทธมณฑล“พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์”  ศูนย์กลางพุทธศาสนา ณ พุทธมณฑล

    สุดสัปดาห์นี้ หากใครยังไม่มีทริปไปไหน ผมอยากจะแนะนำให้มาที่นี่เลยครับ 
    “พุทธมณฑล” 
    ตั้งอยู่ที่ถนนพุทธมณฑลสาย 4 จังหวัดนครปฐม ใกล้กับมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา 
    สถานที่แห่งนี้มีเรื่องราวมากมายทางพุทธศาสนา ที่พวกเราชาวพุทธเองน่าเดินทางมาเพื่อศึกษาหลักธรรมคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ที่แห่งนี้นอกจากบรรยากาศแสนร่มรื่น เต็มไปด้วยต้นไม้นานาพรรณแล้ว ยังมีพื้นที่บริเวณกว้างใหญ่มาก อากาศก็ดี เหมาะแก่การออกกำลังกายตามสไตล์ผมเลย ที่จะวิ่ง จะตีแบดมินตัน โยคะ ก็ได้อย่างสบาย ๆ เลยทีเดียว แล้วก็ยังมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดเล็กหลายจุด ให้ได้นั่งมองเพลิน ๆ ก็ช่วย Relax ได้มากเลยทีเดียว
    จุดเด่นที่สุดของพุทธมณฑลที่แม้จะมองจากบริเวณโดยรอบก็สามารถสังเกตเห็นได้เลย นั่นคือ องค์พระพุทธรูปขนาดใหญ่ คอลัมน์ Camera Diary ฉบับนี้ มีเรื่องราวขององค์ “พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์” และภาพมาฝากกันครับ

    พระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑลที่พุทธมณฑลแห่งนี้ ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า “พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์” ซึ่งสร้างขึ้นบริเวณใจกลางพุทธมณฑล โดยมีต้นแบบจากอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งออกแบบไว้ที่ความสูง 2.14 เมตร แต่ภายหลังมีความต้องการให้มีความหมายเป็นที่ประจักษ์ จึงออกแบบให้มีความสูงที่ 15.875 เมตร 
    ตัวองค์พระมีโลหะสำริดเป็นส่วนประกอบสำคัญ 137 ชิ้น เริ่มสร้างขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2525 ในการจัดสร้างได้แบ่งตัวองค์พระพุทธรูปออกเป็น 6 ส่วนคือ ส่วนพระเศียร (ศีรษะ) ส่วนพระอุระ (อก) ส่วนพระพาหา (แขน) ข้างซ้าย พระนาภี (ท้องถึงสะดือ) ส่วนพระพาหา (แขน) ข้างขวา พระเพลา (ขา) ส่วนพระบาท (เท้า) และส่วนฐานบัวรองพระบาท

    แรกเริ่มเดิมที ในสมัยรัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2498 นั้น ได้มีแนวคิดในการจัดสร้างปูชนียสถานขึ้นเพื่อเป็นพุทธานุสรณียสถาน เนื่องในวโรกาสมหามงคลที่พระพุทธศาสนาเวียนมาบรรจบครบรอบ 2,500 ปี รัฐบาลในขณะนั้นจึงได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไปทรงประกอบรัฐพิธีก่อฤกษ์พุทธมณฑล ณ บริเวณที่จะก่อสร้างองค์พระพุทธรูปในปัจจุบันนี้

    จนกระทั่งเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จทรงเททองพระเกตุมาลา และได้ประกอบพิธีเชื่อมประกอบพระเศียรกับองค์พระพุทธรูป และเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2525  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ  สยามบรมราชกุมารี เสด็จประกอบพิธีสมโภชพระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ และทรงเปิดพุทธมณฑลให้ประชาชนได้เข้านมัสการพระพุทธรูปและใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการสร้าง จึงเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อปวงชนชาวไทยและชาวพุทธอย่างแท้จริงครับ

“พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์”  ศูนย์กลางพุทธศาสนา ณ พุทธมณฑล

 

“พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์”  ศูนย์กลางพุทธศาสนา ณ พุทธมณฑล“พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์”  ศูนย์กลางพุทธศาสนา ณ พุทธมณฑล“พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์”  ศูนย์กลางพุทธศาสนา ณ พุทธมณฑล


พุทธมณฑลมีพื้นที่ใช้สอยถึง 2,500 ไร่ นอกจากเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาแล้ว ยังเป็นสวนสาธารณะสำหรับพักผ่อนของชาวนครปฐมและใกล้เคียง


วัตถุประสงค์ในการจัดสร้างพุทธมณฑลนั้นมีด้วยกัน 8 ประการ ได้แก่
    1. เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาค้นคว้าด้านพระพุทธศาสนา
    2. เพื่อเป็นพุทธบูชาและเป็นพุทธานุสรณียสถาน ในโอกาสที่พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติไทย เจริญรุ่งเรืองมาจนครบ 2500 ปี ในปี พ.ศ. 2500
    3. เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทย
    4. เพื่อเป็นที่สงบร่มรื่นและเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป ในบรรยากาศอันเป็นกุศล
    5. เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน
    6. เพื่อเป็นสำนักงานกลางการบริหารงานของคณะสงฆ์แห่งประเทศไทย
    7. เพื่อเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่พระพุทธศาสนา
    8. เพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางด้านธรรมะแก่พุทธศาสนิกชน

    นอกจากองค์พระประธานของที่นี่แล้ว พื้นที่ทั้งหมดของพุทธมณฑลนั้น สมัยก่อนนั้นเป็นป่าเสียส่วนใหญ่ การก่อสร้างจึงใช้เวลาค่อนข้างมากในการหาความลงตัวทั้งการออกแบบ วางแผน การนำไปใช้ประโยชน์ และได้เปลี่ยนผ่านยุคสมัยของนายกรัฐมนตรีหลายท่าน การก่อสร้างก็อาจมีหยุดชะงักไปบ้าง อีกทั้งด้วยพื้นที่ขนาดถึง 2,500 ไร่ ก็ใช้เวลามากทีเดียวในการจัดสร้างให้มีความสวย งดงาม เหมาะสม ตรงตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริงครับ
    ภายในพุทธมณฑลเอง ก็ยังมีอาคารสำคัญต่าง ๆ อีกมากมายให้พุทธศาสนชิกชนได้ศึกษาเรียนรู้ทางพระพุทธศาสนา อาทิ วิหารพุทธมณฑล ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช ที่พักสงฆ์อาคันตุกะ หอประชุม หอกลอง สำนักงานพุทธมณฑล  ศาลาราย ศาลาปฏิบัติกรรมฐาน พิพิธภัณฑ์พระพุทธศาสนา หอสมุดพระพุทธศาสนามหาสิรินาถ มหาวิหารประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อน ย่อยสวนเวฬุวัน ศาลาสรีรส  และสระน้ำขนาดใหญ่ 

    จุดสำคัญอีกแห่งที่นี่ คือ “ตำบลปฐมเทศนา” ซึ่งผมเองก็ตระเวนเดินหาอยู่นานเลยเชียว แต่ก็ได้ออกกำลังกายไปด้วยในตัว ฮ่าๆ โดยคำว่า “ปฐมเทศนา” หมายถึง การแสดงธรรมครั้งแรก เป็นคำเรียกเทศน์กัณฐ์แรกของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 (โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ)  “ปฐมเทศนา” ยังมีชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ธรรมจักร ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับ อริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโธ และ มรรค ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั่นเองครับ 

    ตำบลปฐมเทศนา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของที่นี่ ประดิษฐานหินสัญลักษณ์รูปธรรมจักร และรูปแท่นที่นั่งของปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ซึ่งธรรมจักรตั้งอยู่บนกลีบบัวหงาย บัวคว่ำ บนฐานบัวถลา ตัวธรรมจักรแกะสลักลาย แบ่งออกเป็น 3 ตอน วงในสุดเป็นลายกลีบบัว 2 ชั้น ถัดมาเป็นซี่กำ 32 ซี่ แกะสลักเป็นลายไทย วงนอกเป็นวงล้อธรรมจักร แกะสลักประกอบเป็นลายลูกฟักก้ามปู มีลูกแก้วประกอบทั้งสองข้าง ขอบนอกสุดมีลักษณะเป็นกนกเปลวเพลิง

โซนพื้นที่ร่มรื่นสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกายหรือพักผ่อนหย่อนใจ

    พุทธมณฑลแห่งนี้ มักจะไว้ใช้จัดกิจกรรมต่าง ๆ ในทางพระพุทธศาสนาและวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา อย่างเช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันลอยกระทง กิจกรรมเลี้ยงพระเพลถวายสังฆทาน และฟังเทศน์ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ มีกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ กิจกรรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน ซึ่งเราสามารถเข้าชมส่วนต่าง ๆ ของที่นี่ได้ทุกวัน เวลา 05.00-19.00 น. ข้อสำคัญของการเข้าชมก็คือ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และปฏิบัติตามระเบียบก่อนเข้าชม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 กันด้วยนะครับ

         ..นับว่าเป็นสถานที่อีกแห่งที่พุทธศาสนิกชนและผู้ที่ต้องการมาพักผ่อนหย่อนใจหรือออกกำลังกายที่นี่ ไม่ควรพลาดเลยล่ะครับ..

  เนื้อหาแนะนำ
เนื้อหาภายในฉบับที่ 44