Asalha Puja อาสาฬหบูชา : ความหมาย ภาษา และความสำคัญ

Volume: 
ฉบับที่ 45 เดือนกรกฎาคม 2565
Column: 
Vocab With Rama
Writer Name: 
นู๋โน โกอินเตอร์ นู๋นัน สะพายกล้อง

  

เมื่อเอ่ยถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา (Buddhism: /ˈbʊdɪzəm/) สำหรับชาวพุทธ (Buddhist: /ˈbʊdɪst/) ในประเทศไทยแล้ว ย่อมนึกถึง 3 วันสำคัญ ได้แก่ 

วันมาฆบูชา (Magha Puja) 

วันวิสาขบูชา (Visākha Puja: /vɪˈsɑːkə ˈpuːdʒɑː/ หรือ Vesak: /ˈvesæk/) 

และวันอาสาฬหบูชา (Asalha Puja) 

ซึ่งในเดือนกรกฎาคมที่ @Rama เล่มนี้ออกวางแผง วันอาสาฬหบูชาของปีก็ตรงกับวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 พอดี นอกจากจะเป็นวันหยุดราชการแล้ว ยังมีความสำคัญกับชาวพุทธอย่างไรบ้าง คอลัมน์ฟุตฟิตฟอไฟกับรามาฯ ขอใช้พื้นที่หน้ากระดาษนี้เล่าเป็นเกร็ดความรู้แบบสนุก ๆ ให้ทุกท่านได้อ่านกันค่ะ    

วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันเพ็ญเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ โดยคำว่า “อาสาฬหบูชา” สามารถอ่านได้ 2 แบบ คือ อา-สาน-หะ-บู-ชา หรือ อา-สา-ละ-หะ-บู-ชา ซึ่งประกอบด้วยศัพท์จากภาษาบาลี 2 คำ คือ อาสาฬห แปลว่า เดือน 8 ทางจันทรคติ กับคำว่า บูชา ที่แปลว่า การเคารพบูชา เมื่อนำมารวมกันจึงแปลว่า การบูชาในเดือน 8 หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน 8 แต่ก็มีอีกชื่อหนึ่งที่อินเดียเขาเรียกวันอาสาฬหบูชา ว่า “Dharma Day” (/ˈdɑːmə deɪ/) หรือ “วันพระธรรม” เชื่อกันว่าเป็นวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้ (Enlightenment: /ɪnˈlaɪtnmənt/) ได้ 2 เดือน (ในวันวิสาขบูชา หรือวันเพ็ญเดือน 6 อย่างที่เราทราบกันดี) โดยแสดงปฐมเทศนา (the First Sermon: /ðə fɜːst ˈsɜːmən) โปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 (the First Five Disciples: /ðə fɜːst dɪˈsaɪpls) ได้แก่ พระอัญญาโกณฑัญญะ (Anna Kondanna) พระวัปปะ (Vappa) พระภัททิยะ (Bhaddiya) พระมหานามะ (Mahanama) และพระอัสสชิ (Assaji) ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (Isipatana Deer Park) เมืองพาราณสี (Varanasi) แคว้นมคธ (Magadha) จนพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้บรรลุโสดาบัน (Sotapanna) (the first stage of enlightenment: / ðə fɜːst steɪdʒ əv ɪnˈlaɪtnmənt/) และขอบวชเป็นพระภิกษุ (monk: /mʌŋk/) รูปแรกในพระพุทธศาสนา จึงถือว่าวันนี้มีพระรัตนตรัย (Triple Gem: /ˈtrɪpl dʒem/) ครบองค์สามบริบูรณ์ครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนพุทธศักราช 45 ปีค่ะ   

และในวันนี้เองที่พระพุทธองค์ทรงแสดง “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” (Dhammacakkappavattana Sutta) แปลเป็นไทยได้ว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม หมายถึง เป็นวันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก  นับเป็นพระธรรมเทศนา (Sermon: ˈsɜːmən) กัณฑ์แรกของพระพุทธองค์ที่เกิดขึ้น โดยมีใจความหลักสำคัญ 2 ประการที่ชาวพุทธคุ้นเคยกันดี ได้แก่  

 1. หลักมัชฌิมาปฏิปทา (อ่านว่า มัด-ชิ-มา-ปะ-ติ-ปะ-ทา) (Majjhimā-paṭipadā) หรือทางสายกลาง (the Middle Way: /ðə ˈmɪdl weɪ) หมายถึง เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นกลาง ถูกต้องและเหมาะสมที่จะให้บรรลุถึงจุดหมายได้ โดยไม่จำเป็นต้องดำเนินชีวิตสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง ได้แก่ การหมกมุ่นในความสุขทางกาย มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง รวมความเรียกว่าเป็นการหลงเพลิดเพลินหมกมุ่นในกามสุข หรือกามสุขัลลิกานุโยค (อ่านว่า กา-มะ-สุ-ขัน-ลิ-กา-นุ-โยก) (Kamasukhallikanuyoga) และการสร้างความลำบากแก่ตน ดำเนินชีวิตอย่างเลื่อนลอย เช่น บำเพ็ญตบะการทรมานตน คอยพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินชีวิตแบบที่ก่อความทุกข์ให้ตนเหนื่อยแรงกาย แรงสมอง แรงความคิด รวมเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค (อ่านว่า อัด-ตะ-กิ-ละ-มะ-ถา-นุ-โยก) (Attakilamathanuyoga) 

ดังนั้น เพื่อละเว้นห่างจากการปฏิบัติอันสุดโต่งทั้งสองข้อที่กล่าวถึงมาแล้วนั้น จำเป็นต้องใช้ทางสายกลาง ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ 8 ประการ รู้จักกันทั่วไปเรียกว่า มรรค 8 (Noble Eightfold Path: /ˈnəʊbl ˈeɪtfoʊld pɑːθ/) ได้แก่  
    •    สัมมาทิฏฐิ (Sammāditthi) เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง  
    •    สัมมาสังกัปปะ (Sammāsańkappa) ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม  
    •    สัมมาวาจา (Sammāvācā) เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต  
    •    สัมมากัมมันตะ (Sammākammanta) กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต  
    •    สัมมาอาชีวะ (Sammā-ājīva) อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต  
    •    สัมมาวายามะ (Sammāvāyama) พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี  
    •    สัมมาสติ (Sammāsati) ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด  
    •    สัมมาสมาธิ (Sammāsamādhi) ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน 

2. อริยสัจ 4 (Four Noble Truths: /fɔː(r) ˈnəʊbl truːðz/) แปลว่า ความจริงอันประเสริฐของอริยะ ซึ่งคือบุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส (defilement: /dɪˈfaɪlmənt/) คือ 
    •   ทุกข์ (Dukkha) ได้แก่ ปัญหา (Trouble: /ˈtrʌbl/หรืออาจใช้คำว่า Suffering: /ˈsʌfərɪŋ/) ทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์  
    •   สมุทัย (Samudaya) ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ซึ่งก็คือ ตัณหา (Desire: /dɪˈzaɪə(r)/) หรือเส้นเชือกแห่งความอยากซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยอื่น ๆ  
    •  นิโรธ (Nirodha) ได้แก่ ความดับทุกข์  เริ่มด้วยชีวิตที่อิสระ อยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา
    •  มรรค (Maggie) ได้แก่ กระบวนวิธีแห่งการแก้ปัญหา อันได้แก่ มรรค 8  

ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันนี้ โดยปกติพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปนิยมในการทำบุญ (Make merit: /meɪk ˈmerɪt/) ตักบาตร (Offer alms to monks: /ˈɒfə(r) ɑːmz tə mʌŋks/) รักษาศีล (keep the precepts: /kiːp ðə ˈpriːsepts/) ฟังพระธรรมเทศนา และสวดมนต์ (Pray: /ˈpriːsept/) ในตอนค่ำก็จะมีการเวียนเทียน (Candlelight procession: /ˈkændllaɪt prəˈseʃn/) ซึ่งเป็นการเดินเวียนรอบปูชนียสถาน (Sacred place: /ˈseɪkrɪd pleɪs/) ตามสถานที่สำคัญ เช่น อุโบสถ วิหาร หรือพระพุทธรูป เพื่อระลึก (Recall: /rɪˈkɔːl/) คุณของพระรัตนตรัย อันเป็นการสืบทอดประเพณีทางศาสนาอันดีงาม แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบัน พุทธศาสนิกชนทุกท่านยังสามารถทำบุญด้วยการบริจาคสมทบช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลนและองค์กรต่าง ๆ อันเป็นการเสียสละเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น และประเทศชาติในยามวิกฤติเช่นนี้ อีกทั้งพึงน้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ด้วยการรักษาศีล การสวดมนต์เจริญสมาธิภาวนาเพื่อบำเพ็ญบุญ เป็นการช่วยชะล้างจิตใจให้ปลอดโปร่งผ่องใส สะอาดบริสุทธิ์ เพื่อจะได้มีจิตใจที่ดีพร้อมในการดำเนินชีวิตบนทางเพื่อการหลุดพ้น (Spiritual liberation: /ˈspɪrɪtʃuəl ˌlɪbəˈreɪʃn/) ต่อไป พบกันใหม่ฉบับหน้าค่ะ ขอตัวไปเก็บกระเป๋าเข้าวัดก่อนนะค้า     
 

ดาวน์โหลดเพื่ออ่านรูปแบบ PDF: 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 45