หนูขอโทษ

Volume: 
ฉบับที่ 49 เดือนกรกฎาคม 2566
Column: 
Behind the Scene
Writer Name: 
นันทิตา จุไรทัศนีย์

หนูขอโทษ

หนูขอโทษ

ฉันมองดูตัวอักษรที่โย้เย้ไปมาบนกระดาษสี่เหลี่ยม พยายามอ่านให้เป็นคำที่มีความหมาย แต่ความพยายามของฉันดูจะไม่เป็นผลสำเร็จ ฉันไม่เข้าใจสิ่งที่เด็กหญิงตรงหน้าพยายามจะสื่อ

ดวงตาสีดำที่ควรจะสดใส ตอนนี้กลับเต็มไปด้วยน้ำตา ดูเหมือนเธอพยายามจะพูดอะไรบางอย่างกับฉัน แต่ทว่า ...

... ไม่มีเสียงใด ๆ เล็ดลอดออกมาจากปากของเธอ

ฉันพยายามอ่านปากของหนูน้อยอีกครั้ง เธอพูดประโยคสั้น ๆ ซ้ำ ๆ

“หนู ….…..”

“......ขอ ......”

“..........โทษ”

“หนูขอโทษ” ฉันพูดตามเด็กหญิง เธอรีบพยักหน้า และเบะปากร้องไห้

“พยาบาลคิดว่าคุณพ่อคุณแม่ รู้และเข้าใจสิ่งที่หนูทำนะลูก” ฉันตอบ พลางลูบผมเธอ

น้ำตาเธอไหลรินและไม่มีท่าทีว่าจะหยุดลงง่าย ๆ

หนูขอโทษ

สัปดาห์ที่แล้ว ที่บ้านเด็กหญิงมีงานวัดประจำปี เสียงดนตรีช่างสนุกสนาน ลูกโป่งหลากสีสันลอยอยู่บนฟ้า ขนมสายไหมสีสวยน่ากิน เธออยากจะไปงานวัดเหลือเกิน

 “พ่อจ๋า หนูอยากไปงานวัด” เด็กหญิงขออนุญาตพ่อด้วยน้ำเสียงออดอ้อน

“พ่อต้องไปนา พ่อต้องรีบเกี่ยวข้าว ลูก” คนเป็นพ่อปฏิเสธด้วยความลำบากใจ ใจจริงก็สงสาร แต่ข้าวในนานั้นเล่า

“พ่อต้องรีบไปแล้ว เดี๋ยวจะค่ำมืด” พ่อตัดใจและรีบเดินไปที่จักรยานคันเก่าแล้วปั่นไปนา

“พ่อใจร้าย พ่อไม่รักหนู หนูโกรธพ่อแล้ว” เสียงคร่ำครวญของเด็กหญิงสลับกับเสียงสะอื้น

เธอเดินไปหาแม่ หวังว่าแม่อาจจะใจดียอมพาไป แต่แล้วเสียงร้องไห้ของน้องน้อยวัยไม่กี่เดือนก็ร้องจ้าขึ้นมา

เด็กหญิงเกาะขอบหน้าต่างแอบดูแม่ให้นมน้อง เธอหมดหวังที่จะขอร้องแม่อีกคน

ใบหน้าดวงน้อยเปรอะเปื้อนไปด้วยคราบน้ำตา เสียงสะอื้นดังเป็นพัก ๆ “ไม่มีใครรักหนูเลย” เธอคิดในใจ เด็กหญิงเดินตรงไปที่ยุ้งข้าว เธอจำได้ว่าพ่อเก็บอะไรบางอย่างไว้ในนั้น

“นั่นไง” เด็กหญิงรีบเดินตรงไปที่ขวดพลาสติกสีขาวแล้วหยิบขึ้นมา เทของเหลวสีน้ำเงินใส่ปากและกลืนลงคอ

“โอยยยยยย” เสียงเด็กหญิงร้องครวญคราญ “พ่อจ๋า แม่จ๋า หนูปวดท้อง”

แม่รีบเดินมาตามเสียงร้อง แล้วก็พบเด็กหญิงนอนอยู่ที่แคร่หน้าบ้าน มือสองข้างกุมที่ท้องพลางนอนบิดตัวไปมา ที่มุมปากมีคราบอะไรบางอย่างติดอยู่

“แม่ช่วยหนูด้วย” ผู้เป็นแม่ตื่นตกใจ รีบสอบถามว่าเธอไปกินอะไรมา

เด็กหญิงชี้ไปที่ยุ้งข้าว ขวดพลาสติกสีขาวกลิ้งอยู่ที่พื้น แม่แทบสิ้นสติ รีบเรียกชาวบ้านให้ช่วยกันพาเธอไปส่งโรงพยาบาล และโทรหาผู้เป็นพ่อ

ทั้งหมดมารอฟังข่าวอยู่หน้าห้องฉุกเฉิน ไม่นานนัก หมอก็ออกมาพูดคุยกับญาติ จับใจความสำคัญได้ว่าต้องรีบส่งเด็กหญิงไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ

ฉันนั่งลงข้างเตียง พลางมองเด็กหญิงที่พยายามจะเขียนบางสิ่งบางอย่างลงกระดาษอีกครั้ง

“หนูรักพ่อ” “รักแม่” “รักน้อง” “อยากกลับบ้าน” “หนูจะไม่ทำอีกแล้ว” เด็กหญิงเขียนซ้ำ ๆ “หนูไม่อยากตาย”

พ่อและแม่ของเด็กหญิงเดินออกมาจากห้องประชุมหลังจากคุยกับแพทย์ ทั้งสองสีหน้าเศร้าหมอง ตาบวมแดงและยังพอมีร่องรอยของน้ำตาให้ได้เห็น

พ่อรีบตรงเข้ามากอดลูกที่นอนอยู่บนเตียงแล้วร้องไห้ เด็กหญิงขยับปากที่มีท่อช่วยหายใจสอดลงไปในลำคอ พูดซ้ำ ๆ ว่า “หนูขอโทษ”

“พ่อรู้ ๆ พ่อขอโทษ” พ่อก็พร่ำคำขอโทษไม่ขาดปากเช่นเดียวกัน

ฉันให้ครอบครัวได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน แพทย์ประจำบ้านถืออะไรบางอย่างและส่งมาให้ฉัน ฉันดูขวดพลาสติกสีขาวใบนั้น ฉลากด้านหน้าเขียนว่า “Paraquat Dichloride”

แพทย์ประจำบ้านส่ายหน้า ฉันพอจะรู้ความหมายในคำตอบนั้น

หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ พ่อและแม่มารับเด็กหญิงที่โรงพยาบาล

 “กลับบ้านนะลูก” เสียงพ่อเรียกลูกน้อย “กลับบ้านเรากันนะ” 

 วันนี้ .... เด็กหญิงได้กลับบ้านแล้ว

จากความน้อยใจ นำไปสู่การกินสารพิษเพื่อประชดพ่อและแม่ เด็กหญิงคงไม่รู้ว่าสิ่งที่เธอทำลงไปนั้นจะทำร้ายร่างกายของเธออย่างรุนแรงมากมายขนาดนี้

 จนในที่สุด ... เธอก็เสียชีวิต

ฉันมองตามรถเข็นศพออกไป ตามด้วยพ่อที่คอยประคองแม่ไว้ ด้วยความกลัวว่าแม่จะเป็นลม กลิ่นของเนื้อเยื่อที่โดนทำลายด้วยสารเคมียังคงอบอวลอยู่ คงต้องใช้เวลาอีกหลายวันกว่ากลิ่นจะหมดไปจากไอ.ซี.ยู

แต่ไม่ว่าจะอีกนานเท่าไร ...... ฉันก็คงไม่มีทางลืมเรื่องราวของเด็กหญิงคนนี้อย่างแน่นอน

หนูขอโทษ

ภาวะเป็นพิษจาก paraquat

เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชในกลุ่ม dipyridil ซึ่งมีใช้กันอย่างแพร่หลาย ชี่อทางการค้ามักจะลงท้ายด้วย -xone เช่น Gramoxone paraquat เป็นของเหลวมีสีน้ำเงินเข้ม

พิษจลนศาสตร์ paraquat จะถูกดูดซึมอย่างช้า ๆ ในทางเดินอาหาร และผิวหนังปกติจะดูดซึม paraquat ได้น้อย ยกเว้นถ้าผิวหนังมีแผลการดูดซึมจะมากขึ้น จนทำให้เกิดการเป็นพิษได้ paraquat จะถูกดูดซึมเข้าไปในเลือด หลังจากนั้นจะกระจายไปอยู่ตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ เช่น ตับ ไต และปอด เป็นต้น ในภาวะไตปกติ paraquat จะถูกขจัดออกทางไตเกือบทั้งหมด ภาวะเป็นพิษจาก paraquat มักจะมีไตวายร่วมด้วย ทำให้ขับถ่ายสารพิษนี้ออกจากร่างกายไม่ได้

กลไกการเป็นพิษ

ประการแรก paraquat มีฤทธิ์กัดกร่อน ซึ่งสามารถกัดผิวหนังและเนื้อเยื่อจนเป็นแผล ประการที่สอง paraquat จะทำปฏิกิริยากับ oxygen ในร่างกายกับเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทำให้เกิดความเสียหาย ปริมาณที่อาจจะทำให้ถึงแก่ชีวิตคือ ความเข้มข้น 20% ปริมาณ 10-15 ml.

อาการแสดง 

หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับสาร paraquat เข้าไปในร่างกายแล้ว ผู้ป่วยมักมีอาการอาเจียน เนื่องจากในปัจจุบันสาร paraquat ที่ขายตามท้องตลาดมียาทำให้อาเจียนผสมอยู่ด้วย เพื่อลดการเป็นพิษของสารนี้ ภายใน 24 ชั่วโมงแรกผู้ป่วยจะมีอาการทางเดินอาหารส่วนต้น เนื่องจากฤทธิ์ระคายเคืองของ paraquat ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย นอกจากนี้จะมีแผลบวมแดงในปาก ซึ่งจะเป็นลักษณะแผ่นขาวปกคลุมบริเวณแผล ในรายที่เป็นมากอาจจะมีอาการฉีกขาดของหลอดอาหาร อากาศรั่วออกไปทำให้มีอาการแทรกซ้อนคือ ลมรั่วในปอดและปอดแตก ภายใน 1-4 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไตวาย นอกจากนี้ผู้ป่วยยังมีอาการของพิษต่อตับ ทำให้ค่าตับสูงขึ้นได้ หลังจากนั้นประมาณวันที่ 3-14 อาการทางไตและตับมักจะดีขึ้น แต่คนไข้จะมีอาการของภาวะหายใจล้มเหลว ซึ่งเกิดจากเลือดออกในปอดและพังผืดในปอด ในที่สุดมักจะถึงแก่กรรมภายใน 3 สัปดาห์

ในรายที่ได้รับสารเคมีชนิดนี้มาก เช่น มากกว่า 60 ml. อาการผิดปกติของอาการจะเร็วภายในไม่กี่ชั่วโมงและอาการแสดงจะเป็นแบบอวัยวะล้มเหลว เช่น ไตวาย หัวใจเต้นผิดปกติ โคม่า ชัก หลอดอาหารตีบตัน และหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยมักจะถึงแก่กรรมภายใน 24-48 ชั่วโมง

ความรุนแรงของโรคและอัตราการเสียชีวิตของภาวะเป็นพิษจาก paraquat นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ที่สำคัญที่สุดได้แก่ ปริมาณที่ผู้ป่วยรับประทานเข้าไป ความเข้มข้นของ paraquat ที่ใช้ทั่วไปคือ 20% ผู้ป่วยที่รับประทานน้อยกว่า 15 ml. มักจะรอดชีวิต แต่ถ้ามากกว่า 50 ml. มักจะเสียชีวิต และอีกประการหนึ่งได้แก่ อาการแสดงของโรค ถ้าอาการตับวาย ไตวาย และปอดวาย เกิดขึ้นในระยะสั้น ๆ แสดงว่าความรุนแรงของโรคมาก

การรักษา 

การรักษาผู้ป่วยที่ได้รับพิษจาก paraquat ควรเน้นที่การประคับประคองผู้ป่วย โดยการเฝ้าดูอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดและการให้การรักษาอาการแทรกซ้อน เช่น ตับอักเสบ หรือไตวาย เชื่อกันว่าการให้ oxygen อาจจะทำให้พิษของสาร paraquat เป็นเร็วและมากขึ้น ในผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับ paraquat ทางปาก ควรจะรีบทำการล้างท้อง และให้ดินเหนียว Fuller’s earth (60 gm./bottle) 150 gm. ผสมน้ำ 1 ลิตร ให้ทางปาก หรือให้ 7.5% bentonite 100-150 gm. หรือ Activated charcoal 100-150 g. (2 gm./1kg.) และให้ร่วมกับยาระบาย MOM 30 ml. ทุก 4-6 ชั่วโมง จนผู้ป่วยถ่ายอุจจาระ โดยทั่วไปแล้วถือกันว่าขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการรักษาภาวะเป็นพิษนี้ เพราะว่าดินสามารถ inactivate paraquat ได้เป็นอย่างดี การให้ Fuller’s earth โดยเร็วจึงเป็นการลดพิษที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
PoisonCenter.mahidol.ac.th
https://www.rama.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/pois-cov/PQ

 

 

ดาวน์โหลดเพื่ออ่านรูปแบบ PDF: 
  เนื้อหาแนะนำ
เนื้อหาภายในฉบับที่ 49