CORONA VIRUS

Volume: 
ฉบับที่ 37 เดือนมิถุนายน 2563
Column: 
Vocab With Rama
Writer Name: 
นู๋โน โกอินเตอร์, นู๋นัน สะพายกล้อง

 

ขอต้อนรับคุณผู้อ่าน @Rama เข้าสู่คอลัมน์ “ฟุตฟิตฟอไฟกับรามาฯ” คอลัมน์ที่จะมาให้ความรู้นานาสาระ เกี่ยวกับศัพท์ภาษาอังกฤษที่ปรากฎเป็นกระแสอยู่ในแวดวงการสุขภาพและการแพทย์ปัจจุบันค่ะ

สำหรับช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมานี้ วิกฤตทางสุขภาพที่ทำให้ทั่วทั้งโลกตกอยู่ในความหวาดกลัวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน คงหนีไม่พ้นเรื่องการระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบไปทุกหย่อมหญ้า ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาชน โดยหลังจากเริ่มการระบาดในมณฑลหูเป่ย ของประเทศจีน และแพร่กระจายไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้เกือบสองเดือน องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้กำหนดชื่ออย่างเป็นทางการให้กับโรคที่เกิดจากการติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ว่า “COVID-19” ซึ่งมาจากการรวมกันของคำว่า Corona (โคโรนา) Virus (ไวรัส) และ Disease (โรค) รวมเข้ากับปีของการเริ่มต้นการแพร่ระบาดคือปี 2019 ทั้งนี้ การตั้งชื่ออย่างเป็นทางการนั้นมีเป้าหมายเพื่อหลีกเลี่ยงความสับสน อย่างการเรียกว่า “ไวรัสโคโรนา” หรือการเหมารวมอย่างไม่ถูกต้องซึ่งนำไปสู่การเหยียดและการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติเช่นการเรียกว่า “ไวรัสอู่ฮั่น” หรือ “ไวรัสจีน” ด้วยค่ะ

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โลกที่ค้นพบไวรัสโคโรนานะคะ เพราะเจ้า “ไวรัสโคโรนา” เนี่ย เป็นไวรัสที่จัดอยู่ในวงศ์ที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาไวรัสทั้งหมด ถูกพบครั้งแรกในช่วงปี 1960 เมื่อส่องดูเชื้อด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนจะเห็นว่าไวรัสชนิดนี้มีลักษณะคล้ายมงกุฎ โดยเปลือกหุ้มด้านนอกประกอบด้วยโปรตีนคลุมด้วยกลุ่มคาร์โบไฮเดรตเป็นมีลักษณะปุ่ม ๆ ยื่นออกไปจากอนุภาคไวรัส จึงถูกตั้งชื่อว่า “โคโรนา” (corona) ซึ่งในภาษาละตินมีความหมายว่ามงกุฎนั่นเองค่ะ ถึงหน้าตาเจ้าไวรัสจะดูวิลิศมาหรา มีหนามมีมงกุฎ มีสีสันฉูดฉาด แต่ระดับความอันตรายนี่ มนุษยชาติไม่ยุ่งด้วยจะดีกว่านะคะ

ก่อนหน้านี้ เจ้าไวรัสสายพันธุ์นี้ มันก่อให้เกิดโรคระบาดหลายชนิดมาแล้ว ได้แก่ โรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome, SARS) ที่ระบาดในช่วงปี ค.ศ. 2002-2003 ซึ่งมีสาเหตุจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ SARS-CoV ที่เป็นไวรัสโคโรนาข้าม species จากค้างคาวผ่าน civet cat (ชะมด) มาติดเชื้อในคน โดยเริ่มระบาดจากประเทศจีนและกระจายไปทั่วโลก จากนั้นในปี ค.ศ. 2012-2014 ก็มีการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อีก ชื่อว่า Middle East Respiratory Syndrome Coronavirus (MERS-CoV) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่าเมอร์ส เป็นไวรัสโคโรนาข้ามสปีชีส์จากค้างคาวผ่านอูฐมาติดเชื้อในคน เริ่มจากผู้ป่วยในประเทศซาอุดิอาระเบีย และกระจายไปในประเทศแถบตะวันออกกลางค่ะ ทุกวันนี้ก็ยังมีการระบาดของโรคอยู่ แต่อยู่ในระดับที่ควบคุมได้

และล่าสุด การระบาดของเจ้าโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในปี 2019 ประเทศจีนได้ทำการสืบสวนหาแหล่งแพร่เชื้อของการระบาดในครั้งนี้ที่เมืองอู่ฮั่น จากผู้ติดเชื้อกลุ่มแรกที่เป็นคนงานและลูกค้าของตลาดขายส่งอาหารทะเลฮั่วนาน (Huanan Seafood Wholesale Market)  โดยที่ตลาดสดนี้ นอกจากขายอาหารทะเลแล้ว ยังขายเนื้อสัตว์ และสัตว์ที่ใช้ทำอาหารที่ยังมีชีวิต เช่น เป็ด ไก่ ลา แกะ หมู อูฐ สุนัขจิ้งจอก งู แบดเจอร์ หนูอ้น เฮดจ์ฮอก แต่ระยะแรกตรวจไม่พบเชื้อ 2019-nCoV ในตัวอย่างตรวจจากสิ่งแวดล้อมและอาหารทะเลที่ได้จากตลาดขายส่งอาหารทะเลฮั่วนาน อย่างไรก็ดี พบผู้ป่วยที่มีประวัติว่าไม่ได้เข้าไปที่ตลาดแห่งนี้เลย

ในทางวิทยาศาสตร์ เจ้าเชื้อไวรัสโคโรนา (CoVs) นี้เป็นไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอสายเดี่ยว (single stranded RNA virus) ใน Family Coronaviridae พบได้ทั่วโลก โดยในเขตอบอุ่น (temperate climates) มักพบเชื้อโคโรนาไวรัสในช่วงฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ การติดเชื้อโคโรนาไวรัสอาจทำให้เกิดอาการในระบบทางเดินหายใจส่วนบนได้ถึงร้อยละ 35 และสัดส่วนของโรคไข้หวัดที่เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัสอาจสูงถึงร้อยละ 15 การติดเชื้อพบได้ในทุกกลุ่มอายุ อาจพบมีการติดเชื้อซ้ำได้ เนื่องจากระดับภูมิคุ้มกันจะลดลงอย่างรวดเร็วภายหลังการติดเชื้อ

การติดเชื้อไวรัสโคโรนาในระบบทางเดินหายใจ (Respiratory Corona Viruses) อาจทำให้เกิดอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ มีน้ำมูก เจ็บคอ ไอ โดยในทารกที่มีอาการรุนแรง อาจมีลักษณะของปอดอักเสบ (Pneumonia) หรือ หลอดลมฝอยอักเสบ (Bronchiolitis) ในเด็กโตอาจมีอาการของหอบหืด (Asthma) ส่วนในผู้ใหญ่ อาจพบลักษณะปอดอักเสบ (Pneumonia) หลอดลมอักเสบเรื้อรัง (Chronic bronchitis) หรือการกลับเป็นซ้ำของโรคหอบหืดได้ และอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงได้มากในผู้สูงอายุหรือผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยพบการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการได้ในทุกอายุ และหากแสดงอาการมักพบร่วมกับการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น Rhinovirus, Adenovirus หรือเชื้อไวรัสอื่น ๆ

วิธีการแพร่โรค เป็นแพร่กระจายเชื้อจากการสัมผัส (Contact) กับสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ หรือแพร่กระจายเชื้อจากฝอยละอองน้ำมูก น้ำลาย (Droplet) จากผู้ป่วยที่มีเชื้อโดยการ ไอ หรือจาม เพราะฉะนั้น การป้องกันที่ดีที่สุด คือ ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย แนะนำให้ผู้ป่วยใส่หน้ากากอนามัย ปิดปากปิดจมูกเวลา ไอ หรือจาม และเราก็ควรจะใส่หน้ากากอนามัยด้วยเช่นเดียวกันเพื่อป้องกันการรับเชื้อโรค ควรล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย ก่อนรับประทานอาหาร และหลังขับถ่าย เนื่องจากผนังเซลล์ของไวรัสตัวนี้มีส่วนประกอบของไขมันเป็นตัวห่อหุ้ม เมื่อเราใช้สบู่ ตัวไขมันที่ผนังเซลล์ก็จะถูกชะล้างและแตกตัวออก ทำให้เจ้าเชื้อไวรัสนี้ตายไป ไม่สามารถก่อโรคให้เราได้ และหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่แออัด หรือที่ชุมชนสาธารณะที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรค เพียงเท่านี้ เราก็จะห่างไกลจากเจ้า COVID-19 ได้แล้วค่ะ

อย่าลืมนะคะ กินร้อน ช้อนเรา สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงที่ชุมชน เพื่อสุขภาพที่ดีของเราค่ะ


 
ดาวน์โหลดเพื่ออ่านรูปแบบ PDF: 
  เนื้อหาแนะนำ
เนื้อหาภายในฉบับที่ 37