ทำไม ? จึงไม่ควรซื้อยากินเอง

Volume: 
ฉบับที่ 50 เดือนตุลาคม 2566
Column: 
Rama RDU
Writer Name: 
ภญ.นันทพร เล็กพิทยา งานเภสัชกรรมคลินิก ฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

เมื่อมีความเจ็บป่วยไม่สบายเกิดขึ้น สิ่งแรกที่ทุกคนคิดถึงก็คงเป็น “ยา” และช่องทางการได้มาซึ่งยานั้นก็มีหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการไปหาคุณหมอที่โรงพยาบาล หรือไปหาคุณเภสัชกรที่ร้านยา แต่วิธีที่กล่าวไปนั้นก็อาจจะต้องใช้เวลาและไม่ได้สะดวกสบายสำหรับทุกคนเสมอไป และบางครั้งอาจจะต้องเหนื่อยใจกับการขัดแย้งกับบุคลากรทางการแพทย์ ที่ให้บริการได้ไม่ถูกใจไปบ้าง บางคนจึงเลือกเข้าถึงยาโดยการ “ซื้อยากินเอง” ไม่ว่าจะเป็นจากทางออนไลน์ จากโฆษณาต่าง ๆ จากร้านยาที่ไม่มีเภสัชกร รวมถึงการซื้อยาตามคำบอกเล่าของเพื่อนหรือคนรู้จัก ในบทความนี้จะมาพูดถึงเหตุผล 3 ข้อ ที่คุณ ไม่ควรซื้อยากินเอง

1. เป็นอันตราย

ยาที่ได้รับมาจากบุคคลที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์หรือแหล่งที่มาที่ไม่น่าเชื่อถือ อาจเป็นยาที่ไม่มีมาตรฐาน เสื่อมคุณภาพ หรือเป็นยาปลอม หากรับประทานหรือใช้ไปแล้ว อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกายได้ แทนที่จะเป็นการรักษาความเจ็บป่วย กลับจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้

2. ผลของยาไม่ได้เหมือนกันทุกคน

การเลือกใช้ยาให้กับผู้ป่วยในแต่ละราย ผู้ป่วยแม้มีอาการป่วยเดียวกัน ไม่ได้หมายความว่าจะต้องได้รับยาที่เหมือนกัน เช่น หากมีสภาพร่างกายที่ไม่เหมือนกันบางอย่าง เช่น กรณีแพ้ยา หรือเป็นผู้สูงอายุที่ต้องระมัดระวังในการใช้ยาบางอย่าง หรือมีโรคร่วมที่เป็นข้อห้ามของการใช้ยาบางชนิด เช่น การแพ้ยา หรือโรคแพ้ถั่วปากอ้า ดังนั้น การเลือกใช้ยาตามคนอื่น หรือการที่คนอื่นใช้ยานี้แล้วได้ผลดี จึงไม่ได้หมายความว่าเราจะได้ผลดีนั้นเหมือนคนอื่นเสมอไป

3. ผิดกฎหมาย

กฎหมายหลักที่ใช้ในการควบคุมการขายยาในปัจจุบันคือ พ.ร.บ. ยา 2510 ซึ่งกำหนดให้ร้านขายยาทุกร้านต้องมีเภสัชกรคอยควบคุมดูแล เพื่อให้การใช้ยาเป็นไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม และปลอดภัย ดังนั้น การสนับสนุนร้านขายยา เว็บไซต์ หรือสื่อโฆษณาของยาที่ไม่ได้ถูกดูแลโดยเภสัชกร จึงเหมือนการสนับสนุนการกระทำที่ผิดกฎหมาย และอาจก่อให้เกิดอันตรายตามมาทั้งต่อตนเองและผู้อื่นนั่นเอง

ดาวน์โหลดเพื่ออ่านรูปแบบ PDF: 
  เนื้อหาแนะนำ
เนื้อหาภายในฉบับที่ 50