รู้จัก “ฟอร์มาลีน”

Volume: 
ฉบับที่ 52 เดือนเมษายน 2567
Column: 
Rama RDU
Writer Name: 
ภญ.นันทพร เล็กพิทยา งานเภสัชกรรมคลินิก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ฟอร์มาลีน (formaline) เป็นสารที่ประกอบด้วยก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ (formaldehyde) ละลายน้ำด้วยความเข้มข้น 37% โดยน้ำหนัก และมักผสมเมทานอลซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งประมาณ 10-15% สารฟอร์มาลีนมีสถานะเป็นสารละลาย ไม่มีสี มีกลิ่นฉุนรุนแรง คุณสมบัติแตกต่างกันตามความเข้มข้นของฟอร์มาลดีไฮด์ในน้ำและอัตราส่วนผสมของเมทานอล มีการนำฟอร์มาลีนมาใช้ประโยชน์หลายด้าน เช่น ใช้เป็นส่วนผสมของน้ำฆ่าเชื้อและน้ำยาทำความสะอาด ใช้ในอุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมการผลิตสี นอกจากนี้ ในทางการแพทย์มีการนำฟอร์มาลีนมาใช้สำหรับรักษาสภาพร่างกายของผู้เสียชีวิตไม่ให้เน่าเปื่อย

อาจารย์ใหญ่ คือ ร่างกายที่ผู้เสียชีวิตได้บริจาคเป็นวิทยาทานแก่นักศึกษาทางการแพทย์ เพื่อให้ได้ค้นคว้าเรียนรู้ทุกส่วนของร่างกาย วิธีการเตรียมอาจารย์ใหญ่โดยใช้ฟอร์มาลีนมีทั้งหมด 2 แบบ

1. วิธีการเตรียมอาจารย์ใหญ่แบบเก่า เมื่อผู้แสดงความจำนงบริจาคร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่เสียชีวิตลง เจ้าหน้าที่จะรีบไปรับศพมาทันที เนื่องจากหากทิ้งไว้นานจะไม่สามารถนำร่างมาทำอาจารย์ใหญ่ได้ เมื่อรับศพมาแล้วก็จะนำมาฉีดน้ำยาซึ่งมีส่วนผสมของฟอร์มาลีน 10% จากนั้นจึงนำมาลงบ่อดองไว้นานประมาณ 2 ปี จึงจะนำไปใช้ได้ ข้อดีของอาจารย์ใหญ่แบบเก่า คือ ค่าใช้จ่ายต่อร่างต่ำที่สุดในทุกวิธี เก็บร่างไว้ใช้ได้นานตลอดปีการศึกษาหรืออาจใช้ได้นานถึงปีกว่า แต่มีข้อเสียเยอะคือ ร่างจะแข็ง ผิวหนัง ข้อต่อ เส้นเอ็น กล้ามเนื้อจะไม่มีความยืดหยุ่นเหมือนคนจริง ๆ นอกจากนี้ การใช้ฟอร์มาลีนจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อจมูก และเป็นสารก่อมะเร็ง จึงมีความพยายามที่จะลดการใช้สารฟอร์มาลีนลง จึงนำมาสู่วิธีการผลิตอาจารย์ใหญ่อื่น ๆ เพิ่มขึ้น

2. วิธีการเตรียมอาจารย์ใหญ่แบบใหม่ คือ แบบศพนุ่ม ขั้นตอนการนำร่างมาทำอาจารย์ใหญ่จะเหมือนกันคือ เมื่อผู้บริจาคเสียชีวิตจะนำศพมาทำอาจารย์ใหญ่ แต่ที่ดีกว่าคือไม่จำเป็นต้องรีบเท่าแบบเก่า คือ ทิ้งศพไว้ประมาณ 5 วันก็สามารถนำมาทำอาจารย์ใหญ่แบบนุ่มได้ ทั้งนี้ เมื่อได้ศพแล้วก็จะนำมาฉีดน้ำยาแบบพิเศษที่มีส่วนประกอบทั้งสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์กว่า 20 ชนิด มีส่วนผสมของฟอร์มาลีนเพียง 2% เมื่อฉีดแล้วจะนำมาแช่ในแท็งก์นานประมาณ 3 เดือน จึงจะสามารถนำร่างมาใช้งานได้ ข้อดีคือเมื่อนำร่างออกมาใช้ครั้งแรกมีระยะเวลาในการเก็บรักษานานอย่างน้อย 2 ปี
 

ดาวน์โหลดเพื่ออ่านรูปแบบ PDF: 
  เนื้อหาแนะนำ
เนื้อหาภายในฉบับที่ 52