Chemical Warfare Agents

 

Bulletin (October - December  2001 Vol.9 No.4)

  Chemical Warfare Agents

         

                มนุษย์เรารู้จักนำสารเคมีมาใช้เป็นอาวุธสงครามมาตั้งแต่สมัย โบราณ ประเทศอังกฤษเป็นประเทศแรก ที่มีการนำควันของกำมะถันมาใช้ในสงครามไครเมีย แต่ที่มีหลักฐานชัดเจนและทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เกิดขึ้นประมาณเดือนเมษายน พ.ศ. 2458 ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อทหารเยอรมันปล่อยก๊าซคลอรีนเข้าสู่แนวรบของฝ่ายพันธมิตร เนื่องจากในสมัยนั้นมนุษย์เรายังไม่ทราบวิธีการป้องกันรักษาจึงมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้ในเวลาต่อมาหลายประเทศได้ร่วมมือกันสร้างสนธิสัญญา เพื่อกำจัดและขัดขวาง การสร้าง การสะสม และการใช้สารเคมีเป็นอาวุธในการทำสงคราม ตัวอย่างเช่น สนธิสัญญาเจนีวาในปีพ.ศ. 2468 แต่ก็ยังมีบางประเทศที่ฝ่าฝืนข้อตกลงดังกล่าวอยู่ เช่น การที่สหภาพโซเวียตบุกยึดอัฟกานิสถาน หรือในสงครามอิรัก-อิหร่าน ก็ยังมีการพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนทางวิทยาศาสตร์ว่ามีการนำเอาสารเคมีและสารชีวภาพมาใช้ในสงครามดังกล่าว นอกจากการนำสารเคมีที่มีอยู่เดิมมาใช้แล้ว ปัจจุบันยังมีการวิจัย พัฒนาอาวุธเคมีและชีวภาพใหม่ๆ ขึ้นมาอีกหลายชนิดเพียงเพื่อใช้ในการทำลายฝ่ายตรงข้ามที่ยังไม่มีระบบป้องกันที่เท่าทัน ให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงนั่นเอง ในที่นี้จะขอกล่าวถึงรายละเอียดของอาวุธพิษจากสารเคมี ซึ่งจะแบ่งกลุ่มตามระบบต่างๆ ในร่างกายที่อาวุธพิษ ออกฤทธิ์เด่นชัดมากที่สุด ดังนี้คือ

  1. สารพิษต่อระบบเลือด (Blood agents)
  2. สารพิษต่อระบบผิวหนัง หรือสารพิษพุพอง (Blister or Vesicant agents)
  3. สารพิษต่อระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหาร (Choking or Lacrimator agents)
  4. สารพิษต่อระบบประสาท (Nerve gases)

BLOOD AGENTS

อาวุธพิษที่สำคัญในกลุ่มนี้ คือกลุ่ม gas ที่ให้สาร cyanide ซึ่งเป็นสารพิษที่ใช้เป็นอาวุธสังหารที่มีประสิทธิภาพมาก ตัวอย่างของสารในกลุ่มนี้ที่เคยมีรายงาน ได้แก่ hydrogen cyanide, cyanogen, cyanogen bromide, cyanogen chloride และ cyanogen iodide ดังตัวอย่างใน ตารางที่ 1

อาการทางคลินิก

สารกลุ่มนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายทางระบบทางเดินหายใจ ซึ่งทำให้เกิดอาการระคายเคือง แสบร้อนในปากและในคอ หายใจลำบาก ปวด-เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ในช่วงแรก cyanide จะกระตุ้นศูนย์ควบคุมการหายใจ หลังได้รับสารในเวลาเป็นวินาทีผู้ป่วยจะไม่สามารถกลั้นหายใจได้ ผู้ที่ได้รับพิษจะหายใจเร็วและแรงขึ้น ทำให้สูดพิษเข้าไปได้มากขึ้น และต่อมาไม่กี่วินาทีผู้ป่วยจะชัก ตามมาด้วยการหยุดหายใจ ความดันโลหิตตก หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตได้

การรักษา
Antidote

 
1. Amyl nitrite (inhalation)
2. Sodium nitrite (intravenous)
3. Sodium thiosulfate (intravenous) Symptomatic/Supportive care:
ปัญหาสำคัญในการรักษาภาวะเป็นพิษจากอาวุธพิษกลุ่มนี้ ได้แก่ การที่ผู้ให้การรักษามีเวลาน้อยมากในการให้ยาต้านพิษ โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยหยุดหายใจแล้ว การให้ยาต้านพิษโดยการฉีดเข้ากล้าม ไม่ได้ผล ต้องฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำเท่านั้น

BLISTER AGENTS

สารทุกตัวในกลุ่มนี้เป็นสารพิษที่ทำให้เกิดอาการทางผิวหนัง เด่นชัดกว่าระบบอื่นๆ การออกฤทธิ์แบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือมีฤทธิ์กัดกร่อนโดยตรงซึ่งจะเกิดอาการในทันที และการออกฤทธิ์ขัดขวางการทำงานของเซลล์ในร่างกาย ซึ่งจะปรากฏอาการทางผิวหนังให้เห็นภายหลังจากนั้นอีกหลายสิบนาทีหรือหลายชั่วโมง ดังตัวอย่างใน ตารางที่ 2

อาการทางคลินิก

สารกลุ่มนี้เข้าสู่ร่างกายทางระบบหายใจและทางผิวหนัง หลังจากได้รับพิษประมาณ 20 นาที ผู้ป่วยจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดบริเวณผิวหนัง อาการต่างๆจะปรากฏชัดเจนหลัง 4-12 ชั่วโมง ความรุนแรงของอาการขึ้นกับปริมาณสารที่ได้รับ อาการมีตั้งแต่เกิด มีอาการระคายเคืองที่เยื่อบุตา ม่านตา กระจกตา ผิวหนังมีอาการอักเสบ เป็นตุ่มพองแดงแบบน้ำร้อนลวก อาการทางระบบทางเดินหายใจคือ มีการอักเสบของหลอดลม ไอมีเสมหะ เจ็บแสบในคอ และไอเป็นเลือด จนถึงระบบหายใจล้มเหลว นอกจากนี้ สารกลุ่มนี้ยังตกค้างเป็นสารพิษในสิ่งแวดล้อม ได้อีกหลายปี

การรักษา
A
ntidote none
Symptomatic/Supportive care:
สำหรับ nitrogen mustard ให้รักษาดังนี้

  1. Decontamination ให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกัน tissue damage
  2. ถ้าสารเข้าตา หลังล้างตาให้ป้ายตาด้วยขี้ผึ้งที่มียาปฏิชีวนะ
  3. ถ้าถูกที่ผิวหนังจนเป็นแผลตุ่มพองให้ล้างด้วย tropical antibiotic ให้เจาะน้ำออกด้วยเข็มสะอาด แล้วใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำยา dakin’s solution ปิดแผลไว้และเปลี่ยนผ้าก๊อซทุก 2-3 ชั่วโมง หลังจาก นั้น 4-5 วัน ให้ทาแผลด้วย 1% sulfadiazine วันละ 2 ครั้ง ทำจนกว่าผู้ป่วยจะเคลื่อนไหวบริเวณนั้นได้ดีขึ้น

การรักษาในกรณีของ lewisite เนื่องจากเป็นสารประกอบของสารหนู ดังนั้นให้ใช้ครีมขี้ผึ้งที่มี BAL (dimercaprol) ใช้สำหรับป้ายตา หรือทาผิวหนังในกรณีที่เกิดแผลตุ่มพองจะให้ผลในการรักษาที่ดีขึ้น

CHOKING AGENTS/LACRIMATORS

สารกลุ่มนี้เป็นสารที่ผลิตได้ง่ายและเป็นสารประกอบเบื้องต้นในการผลิตสารเคมีหลายอย่าง ดังตัวอย่างใน ตารางที่ 3

อาการทางคลินิก

สารกลุ่มนี้มีฤทธิ์ต่อระบบหายใจและระบบทางเดินอาหาร ผู้ที่ได้รับสารจะมีอาการเหนื่อยหอบ มีเสมหะเป็นน้ำใส มีอาการของการขาดออกซิเจน หลอดลมหดเกร็ง ปวดบวมน้ำ ผล arterial blood gas ผิดปกติ ในระยะต่อมาหัวใจด้านขวาจะทำงานล้มเหลว ความดันโลหิต ตก และอาจเสียชีวิตในที่สุด

การรักษา
Antidote 
none
Symptomatic/Supportive care:

ในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยอาจได้รับอาวุธพิษกลุ่มนี้ ให้รับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการอย่างน้อย 6 ชั่วโมง บางครั้งอาจต้อง ถึง 24 ชั่วโมง การรักษาผู้ป่วยที่เกิดภาวะเป็นพิษจากสารกลุ่มนี้เหมือนกับผู้ป่วยที่เกิด adult respiratory distress syndrome (ARDS) จากสาเหตุอื่นๆ
นอกจาก chlorine และ phosgene แล้ว chloropicrine (CCll3NO2) เป็นอาวุธพิษอีกชนิดที่ถูกกล่าวถึงในสารกลุ่มนี้ ซึ่งอธิบายไว้ว่า chloropicrin เป็นสารเคมีที่ใช้ในทางการเกษตร โดยใช้พ่นเพื่อทำลายเชื้อที่เกาะกินเมล็ดธัญพืชและใช้ฆ่าแมลง ยังไม่เคยมีรายงานการใช้เป็นอาวุธสงคราม อาการทางคลินิกของสารชนิดนี้คือ ทำให้เกิดอาการระคายเคืองทางผิวหนัง ตา และระบบหายใจ ถ้าได้รับในปริมาณมาก อาจทำให้มีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และท้องเสียได้ เมื่อเกิดภาวะเป็นพิษก็ให้การรักษาตามอาการเช่นเดียวกัน

NERVE AGENTS

สารกลุ่มนี้เป็นสารพิษที่ใช้เป็นอาวุธกลุ่มที่สำคัญที่สุดในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น tabun (GA), sarin (GB), soman (GD) และ Vx ซึ่งทั้งหมดเป็นสารกลุ่ม organophosphate เช่นเดียวกับที่ใช้เป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในทางการเกษตร แต่ออกฤทธิ์อย่างรวดเร็วและมีพิษร้ายแรงกว่ามาก ดังตัวอย่างใน ตารางที่ 4

อาการทางคลินิก

สารกลุ่มนี้เข้าสู่ร่างกายได้ทางผิวหนังและทางการหายใจ ถ้าอยู่ในรูปของหยดของเหลวจะเป็นอันตรายมากที่สุด สามารถซึมผ่านเสื้อผ้า รองเท้าได้ เมื่อถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในไม่กี่นาที ลักษณะอาการทางคลินิกของผู้ได้รับพิษจะเหมือนกับผู้ป่วยที่ได้รับพิษ จากสารเคมีกำจัดแมลง organophosphate คือจะมีทั้ง muscarinic effects, nicotinic effects และ CNS effects แต่รวดเร็วและรุนแรงกว่ามาก ผู้ป่วยจะเสียชีวิตได้ในระยะเวลาอันสั้น เนื่องมาจากระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อหายใจเป็นอัมพาตและศูนย์ควบคุมการหายใจถูกกดนั่นเอง

การรักษา
Antidote

1. Atropine
2.2-PAM (pralidoxime)

Symptomatic/Supportive care:

1. Decontamination เนื่องจากสารกลุ่มนี้มีพิษต่อระบบประสาทสามารถดูดซึมได้รวดเร็วมาก ในบางครั้งการล้างพิษในกรณีที่สัมผัสสารทางผิวหนัง อาจเป็นการเพิ่มการกระจายของสารพิษให้กว้างมากขึ้น ซึ่งก็จะเป็นการเพิ่มอาการระคายเคืองต่อผิวหนังและทำให้ความต้านทานทางธรรมชาติของผิวหนังลดลงด้วย
2. ดูแลเรื่องระบบทางเดินหายใจ ซึ่งส่วนมากจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
3. ให้การรักษาตามอาการอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น ชัก coma
4. ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เลยตั้งแต่แรก ต้องสังเกตอาการต่ออีกอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง และควรคำนึงถึงเรื่องการเกิดอาการในระยะต่อมา (delayed onset) โดยเฉพาะในกรณีที่สัมผัสสารทางผิวหนังด้วย

เอกสารประกอบการเรียบเรียง

  1. Poisindex staff editorial [Toxicology Information on CD ROM] Warfare agents. Poisindex system. Volume 110. Colorado: Micromedex; Inc, 2001.
  2. Ellenhorn MJ. Chemical Warfare. In: Ellenhorn's Medical Toxicology Diagnosis and Treatment of Human Poisoning. 2 nd ed. Baltimore: Williams & Wilkins, 1997. p.1267-1304.
  3. สุรจิต สุนทรธรรม, สุจินต์ อุบลวัตร. ภัยจากอาวุธพิษและ อุบัติภัยหมู่จากสารพิษ. ใน: สมิง เก่าเจริญ และคณะ. หลักการ วินิจฉัยและรักษาภาวะเป็นพิษ/สารพิษใ กรุงเทพฯ: หมอชาวบ้าน. 2541. หน้า 447-464.