ความเป็นมาของโครงการ

ความเป็นมาของโครงการ

การใช้สารเคมีในประเทศไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมาพบว่ามีการใช้เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มจำนวนประชากร การขยายตัวทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการใช้เคมีภัณฑ์จำนวนมากในครัวเรือน ในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการใช้ยารักษาโรค

การใช้สารเคมีกันอย่างแพร่หลายนี้ก่อให้เกิดการใช้อย่างไม่ถูกต้อง ขาดความรู้ความเข้าใจ การใช้มากเกินความจำเป็นหรือมีการใช้ในทางที่ผิด อันทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีการปนเปื้อนตกค้างของสารเคมีในห่วงโซ่อาหารและในแหล่งน้ำที่สำคัญคือ เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน โดยทำให้เกิดภาวะเป็นพิษจากสารเคมีหรือจากการใช้ยาขึ้น

ซึ่งภาวะเป็นพิษนี้มีทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง เป็นหน้าที่ของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ต้องเป็นผู้ให้การวินิจฉัยรักษาอาการป่วยจากภาวะเป็นพิษ ซึ่งแพทย์ผู้รักษาควรจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ และประสบการณ์ทางพิษวิทยาและเภสัชวิทยาคลินิกเป็นอย่างดี จึงจะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยเหล่านี้ได้ แต่การรักษาผู้ป่วยที่ได้รับพิษเท่าที่ผ่านมาแพทย์จะประสบปัญหาเหล่านี้คือ

  1. ขาดข้อมูลเกี่ยวกับสารที่ผู้ป่วยได้รับเข้าไป ทั้งในแง่ลักษณะอาการ อาการเป็นพิษ และแง่การรักษา ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับสารพิษต่างๆ นับวันจะมากขึ้นยากแก่การติดตามความรู้เหล่านี้ให้ทันอยู่เสมอ เนื่องจากแพทย์มีเวลาน้อย และแพทย์ที่ประจำห้องฉุกเฉินที่แรกประสบกับผู้ป่วย ก็เป็นแพทย์ที่ยังมีประสบการณ์ทางด้านสารพิษน้อย ทำให้การเสาะหาข้อมูลเพื่อการรักษายากขึ้น
  2. ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลช้าเกินไป แพทย์ไม่สามารถให้การรักษาได้ทันท่วงที ซึ่งอาจจะเป็นเพราะอยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล หรือไม่ทราบว่าสารที่ได้รับเข้าไป จะก่อให้เกิดพิษในภายหลัง จึงละเลยไม่ให้การรักษา
  3. ขาดประสิทธิภาพในการรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษ เนื่องจากขาดการวางแผนการเก็บข้อมูลอย่างละเอียด และเป็นแบบแผน ซึ่งส่งผลให้การรวบรวมข้อมูลและประสบการณ์ต่างๆ จากสารพิษไม่ครบถ้วน พอที่จะนำไปเป็นประโยชน์ในการแง่การพัฒนาการรักษาและหาสถิติ เพื่อการป้องกันไม่ให้เกิดอาการเป็นพิษในอนาคต
  4. เนื่องจากขาดข้อมูลที่อาจจะทำให้แพทย์ให้การรักษาเกินความจำเป็น ในบางครั้งการรักษาด้วยยาต้านพิษอาจจะมีอันตรายมากกว่าตัวสารพิษเองหากใช้ไม่ถูกวิธี

ศูนย์พิษวิทยา  สามารถช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้นเกี่ยวกับข้อมูลทางพิษวิทยาและเภสัชวิทยา โดยจะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสารพิษต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก และสะสมข้อมูลใหม่ๆเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา พร้อมที่จะให้บริการเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสารพิษต่างๆได้ ในเวลาอันรวดเร็ว ให้บริการตอบคำถามแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน การตอบข้อมูลเกี่ยวกับสารพิษนั้นจะต้องคำถามกรณีเฉพาะของผู้ได้รับสารพิษรายนั้น กล่าวคือเป็นการให้ข้อมูลที่สรรหาและปรุงแต่งแล้วให้เหมาะสมและเข้าประเด็นในผู้ป่วยที่เป็นพิษอยู่ในขณะนั้น นอกจากข้อมูลเกี่ยวกับสารพิษต่างๆแล้ว ในกรณีที่เป็นสารพิษซึ่งเป็นอันตรายมาก ศูนย์พิษวิทยายังสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบำบัดเบื้องต้น การป้องกันสารพิษเข้าสู่ร่างกาย เช่น การทำให้ผู้ป่วยอาเจียน หรือการล้างสารพิษออกจากผิวกายซึ่งเป็นการรักษาที่ทำได้ง่าย และมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดพิษ ผู้ถามสามารถปฏิบัติตามได้ทันที ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์และลดปัญหาเรื่องการส่งผู้ป่วยช้าเกินกว่าที่จะรักษาได้ ในกรณีที่สารที่ได้รับนั้นไม่มีพิษ ข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยาจะสามารถช่วยไม่ให้แพทย์ หรือผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยให้การบำบัดเกินความจำเป็น ศูนย์พิษวิทยายังมีการเก็บข้อมูลอย่างมีระบบแบบแผน ซึ่งสามารถจะนำมาวิเคราะห์และประเมินการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถหาสถิติการเป็นพิษของสารต่างๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในแง่การป้องกันการเกิดพิษได้ในอนาคต นอกจากการแก้ปัญหาดังกล่าวมาแล้ว ศูนย์พิษวิทยายังมีการจัดอบรมแก่ประชาชนเช่น เยาวชน แม่บ้าน ฯลฯ เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับสารต่างๆ ในครัวเรือน และการเป็นพิษที่เกิดจากสารเคมีพร้อมทั้งการป้องกันและบำบัดเบื้องต้นเมื่อได้รับสารพิษ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในแง่การป้องกันการเกิดพิษได้ในอนาคต

ศูนย์พิษวิทยา  ที่ทำหน้าที่ดังกล่าวก่อกำเนิดเป็นครั้งแรกที่เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา โดยการจัดตั้งขององค์การอาหารและยา มีชื่อว่า National Clearing House Poison Control Center การทำงานในระยะแรกเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลและตอบคำถามเกี่ยวกับสารพิษ ต่อมาพัฒนามากขึ้นโดยได้จัดตั้งระบบฐานข้อมูลโดยทำเป็นกระดาษแข็งบรรจุด้วยข้อมูลสารต่างๆ เช่น อาการการเกิดพิษ และการรักษา ข้อมูลเหล่านี้ได้จัดส่งไปตามที่ต่างๆ เช่น โรงพยาบาล หรือหน่วยงานที่ต้องการ ทำให้การค้นข้อมูลเกี่ยวกับสารพิษทำได้รวดเร็วและสะดวกขึ้น แต่จากการที่วิทยาการก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว สารเคมีต่างๆ มีมากขึ้นฐานข้อมูลจึงขยายตัวใหญ่ขึ้น ระบบเก็บข้อมูลด้วยกระดาษเริ่มจะขาดประสิทธิภาพโดยเฉพาะในแง่การเรียกใช้ จึงได้มีการเก็บข้อมูลใน computer ซึ่งอำนวยความสะดวกอย่างมาก ศูนย์พิษวิทยาที่ใช้ฐานข้อมูลนี้ สามารถรับการปรึกษาได้วันละ 109 ราย พร้อมคำตอบสมบูรณ์ทุกคำถาม ในแง่ของโครงสร้างของศูนย์ฯ มีการเปลี่ยนแปลงจากการเป็นศูนย์ส่วนกลางเป็นศูนย์ประจำเขต การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างนี้สามารถแก้ปัญหาสองประการคือ ประการแรก ลดภาระการตอบคำถามลง และ ประการที่สองเพิ่มความถูกต้องของข้อมูล เนื่องจากสารในแต่ละภาคนั้นมีความแตกต่างกัน ในแง่อัตราการใช้ และชนิดของสารโดยเฉพาะพืชและสัตว์มีพิษประจำท้องถิ่นนั้น ฉะนั้น ศูนย์ประจำเขตจะรับผิดชอบข้อมูลสารเหล่านี้ได้ดีกว่าศูนย์ส่วนกลางมาก

งานของศูนย์พิษวิทยาต่างๆ ที่ก่อตั้งมานั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีการพิจารณาหลายครั้งถึงความสำคัญ และ cost and effectiveness ของศูนย์ฯ เหล่านี้ ความเห็นที่ได้รับคือ การสนับสนุนให้ขยายงานให้เข้าถึงระดับชุมชนมากขึ้น (แทนการบริการเพียงแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น) ตัวอย่างจะเห็นได้จากศูนย์พิษวิทยาเมือง Indianapolis จัดตั้งมาประมาณ 10 ปี ดำเนินงานโดยเภสัชกรรมและพยาบาล ฐานข้อมูลระยะแรกเป็น microfiche มีการตอบคำถามประมาณ 4,000 คำถามต่อปี จนระยะสองปีหลังในปี 1984 มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารฐานข้อมูลเป็น computerized สามารถเพิ่มการตอบปัญหาได้ปีละ 60,000 ราย เป็นการตอบปัญหาและให้การช่วยแนะนำการปฐมพยาบาล 30,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นการแนะนำให้ปฐมพยาบาลที่บ้าน 80.3% ในแง่ cost and effectiveness พบว่า ค่าใช้จ่ายในเวลา 6 ปีตั้งแต่ 1979-1984 เป็นจำนวนเงิน 1,1500,000 เหรียญ ทางศูนย์ฯ ได้ให้การแนะนำแก้ไขผู้ได้รับสารพิษโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถประหยัดเงินได้ถึง 3,075,000 เหรียญ สามารถลดอัตราตายจากสารพิษ 33% ซึ่งประเมินแล้วเป็นจำนวนผู้ป่วย 160 ราย ในประเทศอังกฤษศูนย์พิษวิทยาตั้งขึ้นในกรุงลอนดอนมีคำถามปีละ 5000 คำถามในปี 1967 เป็นปีละ 55,000 คำถามในปีถัดไป ลักษณะผู้ใช้บริการก็มีแนวโน้มว่า จะเปลี่ยนไปจากแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์มาเป็นประชาชนมากขึ้น

เท่าที่กล่าวมาแล้วเป็นงานของศูนย์พิษวิทยา ซึ่งงานส่วนใหญ่หนักไปทางบริการตอบคำถาม แต่ศูนย์ฯ ในอุดมการณ์ควรจะมีหน้าที่อื่นนอกเหนือไปจากนี้ เพื่ออำนวยประโยชน์แก่การรักษาคือ การบริการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษและทำวิจัยแง่การรักษาผู้ป่วย ซึ่งจะได้ประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยและนำข้อมูลจากการวิจัยมาพัฒนาการรักษาให้ดีขึ้นในอนาคต ศูนย์พิษวิทยายังต้องมีห้องปฏิบัติการรองรับเพื่อวิจัยสารต่างๆ เป็นการสนับสนุนการรักษา และการป้องกันอันตรายจากการเป็นพิษ กล่าวโดยสรุป ศูนย์พิษวิทยา ควรจะสามารถปฏิบัติการแบบครบวงจรทั้งในแง่บริการรักษา วิจัย และให้ความรู้

นอกจากปัญหาในการใช้ยาอย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากอาการข้างเคียง และ cost and effectiveness แล้ว ยังมีปัญหาสำคัญในประเทศไทยอีกคือ ควรมีข้อมูลเพียงพอที่จะตัดสินใจในการเลือกวิธีการรักษาต่างๆ ทางศูนย์พิษวิทยา ได้รวบรวมฐานข้อมูลเกี่ยวกับยาในแง่เภสัชจลนศาสตร์ เภสัชฤทธิวิทยา การปรับระดับยาในโรคต่างๆ การควบคุมระดับยาในการรักษาอาการข้างเคียงของยา และปฏิกริยาต่อกันระหว่างยา

ด้วยเหตุผลดังกล่าว โครงการศูนย์พิษวิทยา จึงถูกจัดตั้งขึ้นในศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นศูนย์พิษวิทยาแห่งแรกในประเทศไทย เป็นศูนย์พิษวิทยาที่ครบวงจร โดยเป็นแหล่งให้ข้อมูล คำปรึกษาที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญ สะดวกรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ เพื่อแพทย์สามารถใช้ประกอบการวินิจฉัย รักษาผู้ที่ได้รับสารพิษได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ศูนย์ฯ ยังให้บริการการตรวจวัดระดับสารพิษและวัดระดับยาทางห้องปฏิบัติการ รับโอนย้ายผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษ หรือเกิดพิษจากยาที่มีอาการหนัก ตลอดจนเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลทางด้านอาชีวอนามัย การดูแลจัดการกับสารเคมี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรทางการแพทย์ และบุคลากรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนิน เปิดอาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2539 ศูนย์พิษวิทยา (Ramathibodi Poison Center) จึงได้เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป