พันธกิจ / วิสัยทัศน์ และแผนกลยุทธ์


พันธกิจ วิสัยทัศน์และแผนกลยุทธ์ของศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ มีดังนี้


พันธกิจ มุ่งมั่นให้การรักษาพยาบาลที่เป็นเลิศ แก่ผู้ป่วยทุกกลุ่ม พร้อมสร้างผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และงานวิจัยเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยอย่างยั่งยืน


วิสัยทัศน์ เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยชั้นนำในภูมิภาคเอเชียและเป็นที่พึ่งของผู้ป่วยด้านการรักษาพยาบาลโรคซับซ้อน


แผนกลยุทธ์ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่กำหนด บุคลากรในศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ จะต้องดำเนินการตามกระบวนการต่างๆ เพื่อตอบสนองและสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ผู้รับบริการกลุ่มต่างๆ รวมทั้งสร้างความมั่นคงด้านการเงินขององค์กร เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีแผนกลยุทธ์ดังนี้
๑.  ยกระดับการให้บริการรักษาพยาบาลที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริงมีแนวทางดำเนินงาน ดังนี้

  • ศึกษาความต้องการด้านการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยและญาติ
  • พัฒนาการบริการรักษาพยาบาลให้มีคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล
  • วางแผนและดำเนินการจัดกระบวนการรักษาพยาบาลให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วย
  • จัดให้บริการผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ ที่มีความต้องการแตกต่างกันอย่างเหมาะสม
  • ติดตามข้อคิดเห็นและเสนอแนะของผู้รับบริการ เพื่อนำมาปรับปรุงการบริการให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • กำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลและค่าบริการต่างๆ อย่างเหมาะสมและมีช่องทางสำหรับจุนเจือการรักษาพยาบาลผู้มีรายได้น้อยที่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษา
  • จัดการบริการที่มีความสะดวกและเข้าถึงได้ง่ายสำหรับผู้รับบริการกลุ่มต่าง ๆ
  • ลงทุนในเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีประโยชน์และคุณค่าอย่างแท้จริง

๒.  พัฒนาอาคารสถานที่ให้ได้มาตรฐานสากล คำนึงถึงความปลอดภัยและความสะดวกสบายของทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ มีแนวทางดำเนินงาน ดังนี้

  • จัดหน่วยบริการผู้ป่วย โดยคำนึงถึงกระบวนการทำงาน ความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วย ความสะอาดและสวยงามของสถานที่
  • ปรับปรุงหน่วยบริการทางคลินิกและสิ่งสนับสนุนให้ได้มาตรฐานสากล
  • เพิ่มการจัดทำคลังยา เวชภัณฑ์และคลังพัสดุ แยกจากอาคารหลัก
  • ตกแต่งภายในและภายนอกอาคารให้สวยงามและเป็นธรรมชาติ ให้ผู้ป่วยและญาติรู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียดจากการรับบริการ
  • จัดทำทางเชื่อมยกระดับระหว่างอาคารหลักของคณะฯ และอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ เพื่อเพิ่มความสะดวก ปลอดภัยในการเดินทางของผู้ป่วยและญาติ ตลอดจนผู้ให้บริการ
  • จัดให้มีร้านค้าและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในอาคารอย่างเพียงพอและมีความหลากหลาย
  • จัดที่จอดรถสำหรับผู้รับบริการ โดยกำหนดอัตราค่าบริการที่เหมาะสม และบริหารจัดการให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสจอดรถมากที่สุด


 

๓.  เพิ่มรายได้และลดรายจ่ายขององค์กร มีแนวทางดำเนินการ ดังนี้

  • จัดทำแผนการเงินและงบประมาณ
  • พัฒนาระบบการคิดต้นทุน และการกำหนดอัตราค่าบริการที่เหมาะสม
  • จัดเก็บเงินและบริหารการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่สร้างคุณค่า
  • เพิ่มประเภทการบริการรักษาพยาบาลตามความต้องการของผู้รับบริการและเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น
  • เพิ่มการบริการกลุ่มผู้ป่วยประกันเอกชนและองค์กร
  • พัฒนาระบบห่วงโซ่อุปทาน ให้มีประสิทธิภาพ

๔.  จัดหา พัฒนาและธำรงไว้ซึ่งบุคลากรที่ดีและมีความสามารถ มีแนวทางดำเนินงาน ดังนี้

  • ปรับระบบการคัดสรรบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน
  • จัดการฝึกอบรมก่อนและระหว่างการปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำหน้าที่
  • พัฒนาหัวหน้างานและหัวหน้าหน่วยเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ ภาระงาน การมอบหมายงาน การกำกับดูแล และการประเมินผลการปฏิบัติงาน
  • พัฒนาระบบประเมินผลงานให้เข้าใจและปฏิบัติได้ง่าย ตลอดจนมีความเป็นธรรม
  • สร้างวัฒนธรรมการให้บริการที่เป็นเลิศในบุคลากรทุกกลุ่ม
  • จัดกระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนางานตลอดชีวิต
  • จัดเงินเดือน ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสม รวมทั้งสร้างระบบการให้รางวัลตามผลงาน
  • สร้างบันไดความก้าวหน้าในวิชาชีพของบุคลากรทุกกลุ่มงาน
  • จัดสถานที่ทำงานและสิ่งแวดล้อมตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสม เพื่อให้บุคลากรสามารถทำงานได้อย่างมีความสุขเต็มตามศักยภาพ

 

๕. เพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการต่างๆ มีแนวทางดำเนินงานดังนี้

  • กำหนดโครงสร้างองค์กรและการบริหารให้เหมาะสมสำหรับพันธกิจด้านบริการรักษาพยาบาลเป็นหลัก
  • แยกการบริหารจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกจากการจัดการทางคลินิก
  • ว่าจ้างหน่วยงานภายนอกเข้ามาดำเนินงานในงานสนับสนุนบางเรื่องที่ไม่ใช่พันธกิจหลักขององค์กร
  • พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้รองรับกระบวนการทำงานต่างๆ
  • ใช้แผนกลยุทธ์ในการดำเนินงานและติดตามผลการปฏิบัติงาน
  • พัฒนาระบบการจัดการห่วงโซ่อุปทานในองค์กรให้มีประสิทธิภาพ
  • มุ่งพัฒนาระบบคุณภาพโรงพยาบาลตามมาตรฐานสากล
  • ๖. พัฒนาการสื่อสารทั้งภายนอกและภายใน มีแนวทางดำเนินการ ดังนี้

๖. พัฒนาการสื่อสารทั้งภายนอกและภายใน มีแนวทางดำเนินการ ดังนี้

  • จัดตั้งหน่วยงานด้านการประชาสัมพันธ์ของศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์
  • วางนโยบายการสื่อสารที่เปิดกว้างสำหรับบุคลากรทุกคน และนำไปสู่การปฏิบัติในทุกหน่วยงาน
  • จัดตั้งหน่วยบริหารจัดการผู้รับบริการ
  • จัดทำเว็บไซต์และช่องทางการสื่อสารด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • จัดตั้งหน่วยองค์กรสัมพันธ์เพื่อติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง

๗. สนับสนุนการฝึกอบรมบุคลากรวิชาชีพและการวิจัยทางการแพทย์ จัดตั้งหน่วยประสานงานและสนับสนุนการฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ตลอดจนงานวิจัยทางคลินิกและโครงการพัฒนาศักยภาพประชากรไทย

  ในการดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ดังกล่าว ทางคณะฯ ได้ว่าจ้างที่ปรึกษามืออาชีพในด้านต่างๆ มาให้คำแนะนำและวางแผนดำเนินการ ได้แก่

  • บริษัท เอส ซี จี แอคเค้าน์ติ้ง เซอร์วิสเซส จำกัด ในโครงการที่ปรึกษาระบบงานบัญชีและการเงินในอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์
  • บริษัท วาเมด เฮลท์แคร์ เซอวิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ในด้านการวางแผนและบำรุงรักษาอาคารสถานที่ เครื่องมือแพทย์ ตลอดจนการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
  • บริษัท โฟกัส โปรเฟสชั่นแนล จำกัด ในด้านการบริหารจัดการระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain management)
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษาแนวทางพัฒนาประสิทธิภาพของการดำเนินงาน ๒ โครงการ คือ โครงการศึกษาและวิเคราะห์และออกแบบการให้บริการผู้ป่วย และโครงการประยุกต์และพัฒนาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน
  • ที่ปรึกษาอิสระ เพื่อช่วยงานการจัดตั้งและดำเนินการของบริษัท อาร์ เอฟ เอส จำกัด ที่ทางมหาวิทยาลัยมหิดลจัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารจัดการด้านสิ่งสนับสนุนโรงพยาบาลและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์

          การดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ข้างต้น ต้องอาศัยบุคลากร เทคโนโลยีและกระบวนการจัดการต่างๆ โดยทางศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ จะได้ดำเนินงานให้สอดคล้องกับทางคณะฯ ตามแนวทางรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award) แผนกลยุทธ์บางเรื่องได้ดำเนินการเสร็จแล้ว บางเรื่องกำลังดำเนินงานอยู่ สำหรับบางเรื่องจะอยู่ในแผนการปฏิบัติต่อไป บุคลากรของศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ จะมุ่งมั่นให้บริการรักษาพยาบาลที่เป็นเลิศและพัฒนาให้ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์เป็นองค์กรที่ได้มาตรฐานสากลภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๘