เมืองฝนแปดแดดสี่ เที่ยวหน้าร้อนนี้ที่จังหวัดระนอง

Volume: 
ฉบับที่ 48 เดือนเมษายน 2566
Column: 
Camera Diary
Writer Name: 
นันทิตา จุไรทัศนีย์

สวัสดีหน้าร้อนที่แสนร้อนแรงค่ะ Camera Diary ฉบับนี้ ขอพาท่านผู้อ่านมาคลายร้อนที่จังหวัดระนอง เมืองฝนแปดแดดสี่ที่ชุ่มฉ่ำด้วยสายฝนกันค่ะ

ระนอง เป็นจังหวัดชายฝั่งทะเลตะวันตกของภาคใต้ มีพื้นที่ทางตะวันออกติดต่อกับจังหวัดชุมพร ทางใต้ติดกับจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดพังงา ทางตะวันตกติดกับประเทศเมียนมาร์และทะเลอันดามัน มีลักษณะพื้นที่เรียวและแคบ มีความยาวถึง 169 กิโลเมตร และมีความแคบในบริเวณอำเภอกระบุรี เพียง 9 กิโลเมตร ส่วนคำว่าระนองเพี้ยนมาจากคำว่า แร่นอง เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดมีแร่อยู่มากมายนั่นเองค่ะ

 

   เที่ยวกรุงเทพ-ระนอง ไปง่ายนิดเดียว

รถยนต์ส่วนตัว จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายพุทธมณฑล-นครปฐม-เพชรบุรี หรือเส้นทางสายธนบุรี-ปากท่อ (หมายเลข 35) และมาแยกที่อำเภอปากท่อ เข้าทางหลวงหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม จนถึงสี่แยกปฐมพร จังหวัดชุมพร เลี้ยวขวาอีกประมาณ 112 กิโลเมตร ถึงเมืองระนอง ระยะทางประมาณ 568 กิโลเมตร

รถโดยสารประจำทาง บริษัทขนส่ง จำกัด มีบริการรถโดยสารปรับอากาศ และรถโดยสารธรรมดา ระหว่างกรุงเทพฯ–ระนอง ทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่สถานีขนส่งสายใต้ โทร. 0-2793-8111 สถานีขนส่งจังหวัดระนอง โทร. 0-7781-1548

เครื่องบิน ปัจจุบันเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ ไปสู่ระนอง มีเที่ยวบินทุกวันจากสนามบินดอนเมืองไปยังสนามบินระนองค่ะ

การคมนาคมภายในจังหวัดระนอง มีรถสองแถวบริการในเขตเทศบาลเมือง และวิ่งรอบเมือง และสามารถเช่ารถจากบริษัทเอกชนขับท่องเที่ยวเองได้ค่ะ

1 วันในระนอง

เราสามารถท่องเที่ยวในจังหวัดระนองได้ง่าย เพราะถนนสายหลักในจังหวัดระนองเป็นเส้นตรงยาวจากเหนือสู่ใต้ค่ะ หลังจากเดินทางด้วยเครื่องบินสู่สนามบินระนอง เราเช่ารถขับโดยจุดหมายแรกอยู่ไม่ไกลจากสนามบินค่ะ 

ภูเขาหญ้า ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยว Unseen หนึ่งแห่งของเมืองระนอง มีลักษณะเป็นเนินเขาไม่สูงมากที่มีความต่อเนื่องกันอยู่หลายเนิน ทอดตัวไล่เรียงกันลงมาจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ แต่ไฮไลท์อยู่ที่เนินเขาแห่งนี้จะไม่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่เลย แต่กลับเป็นเนินเขาที่มีแต่ต้นหญ้าขึ้นปกคลุมเต็มพื้นที่ โดยทุ่งหญ้านี้จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตามฤดูกาล เมื่อถึงฤดูแล้งทุ่งหญ้าจะเป็นสีเหลืองทอง และเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนทุ่งหญ้าจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว จึงเป็นที่มาของชื่อ ภูเขาสองสี นั่นเอง นอกจากนั้นยังมีทางเดินเท้าสำหรับคนที่ชอบเดินเล่นชมวิวหรืออยากขึ้นไปมองมุมสูงลงมาจากด้านบนเนินเขา เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งวิวสวยแปลกตาที่หาดูได้ไม่ง่ายนักค่ะ

น้ำตกหงาว ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว อำเภอเมืองระนอง ยังมีสภาพผืนป่าอุดมสมบูรณ์มาก เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ไหลลงมาจากภูเขาสูงชัน สามารถมองเห็นได้จากระยะไกล ๆ เลยค่ะ สภาพโดยรอบของน้ำตกนี้เป็นพื้นที่ป่าเขียวขจีที่เป็นแหล่งต้นทางของแม่น้ำลำธารและคลองอีกหลายสาย หากใครกำลังขับรถอยู่บนถนนที่ผ่านตัวเมืองระนองก็สามารถที่เห็นน้ำตกหงาวที่ไหลลงมาจากหน้าผาสูงชันได้ชัดเจนมาก ๆ เลยทีเดียว โดยช่วงที่มีน้ำมากที่สุดคือเดือนมิถุนายน และช่วงที่เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวมากที่สุดคือระหว่างเดือนพฤศจิกายน-เมษายน และใกล้กัน ยังมีบ่อน้ำร้อน และเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติไว้รองรับสำหรับนักท่องเที่ยวสายธรรมชาติอีกด้วย 

จุดชมวิวเข้าฝาชี ตั้งอยู่ในตำบลบางแก้ว อำเภอละอุ่น ห่างจากตัวเมืองระนองประมาณ 30 กิโลเมตร เป็นจุดชมวิวสวยที่สุดจุดหนึ่งของเมืองระนองค่ะ เขาฝาชีมีความสูงประมาณ 259 เมตร เส้นทางดีเดินทางง่าย สามารถขับรถขึ้นไปจุดสูงสุดของเขาได้ แต่ถนนค่อนข้างแคบและสูงชันบางจุดค่ะ เมื่อมองลงไปด้านล่างจะเห็นทิวทัศน์ของเกาะแก่งน้อยใหญ่ รวมถึงแม่น้ำกระบุรีและแม่น้ำละอุ่นไหลมาบรรจบกันเพื่อเดินทางลงไปยังปากอ่าวสู่ท้องทะเล นอกจากนั้นยังเห็นภูเขาและพื้นที่ป่าสีเขียวที่ยังอุดมสมบูรณ์อยู่ค่ะ

 

หลังเที่ยวกันจนหนำใจแล้วเรามาเติมความอร่อยที่ร้านเคียงเลค่ะ ตั้งอยู่ริมทะเลและได้ชมวิวประเทศเมียนมาร์อีกด้วย นับเป็นร้านริมทะเลที่บรรยากาศดีมาก ๆ ใครที่เป็นสาวกอาหารทะเลแนะนำร้านนี้เลยค่ะ

เคียงเล ระนอง (KeingLay Ranong)  ที่อยู่ : 123/6 หมู่ 5 ถ.ปากน้ำ ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระนอง 

เปิดบริการทุกวัน เวลา 11.00-21.00 น.

 

จบกันไปแล้วสำหรับการพักผ่อนระยะสั้น 1 วันในระนอง เป็นการเพิ่มพลังในวันหยุดสั้น ๆ ก่อนกลับไปเริ่มทำงานกันใหม่ ด้วยการคมนาคมด้วยเครื่องบินที่สะดวกสบาย ทำให้เราย่นระยะทางและย่นเวลาได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ 

พบกันฉบับหน้า เราจะไปเจอกันที่ไหน ติดตามกันได้ค่ะ

สวัสดีค่ะ

ขอขอบคุณ

https://th.wikipedia.org

https://www.thai-tour.com/travel/ranong

https://th.readme.me/p/20306

https://www.traveloka.com/en-th/explore/destination/ranong-must-checkin-...

https://th.trip.com/hot/articles

  เนื้อหาแนะนำ
เนื้อหาภายในฉบับที่ 48