โดนสุนัขกัดหรือข่วน แต่สุนัขฉีดยากันพิษสุนัขบ้าแล้ว ไม่ต้องไปพบแพทย์จริงหรือ?

Volume: 
ฉบับที่ 48 เดือนเมษายน 2566
Column: 
Believe it or not
Writer Name: 
อ. พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ไม่จริง

การที่สุนัขกัด หรือสัตว์อื่น ๆ ที่สามารถนำเชื้อพิษสุนัขบ้า เช่น แมว ค้างคาว สุนัขจิ้งจอก หรือ แรคคูนกัด เราต้องประเมินความเสี่ยงหลายด้าน เริ่มตั้งแต่

  • สุนัขมีอาการอย่างไร ทำไมถึงกัด เพื่อประเมินว่า สุนัขนั้นเองมีโอกาสติดเชื้อพิษสุนัขบ้าหรือไม่
  • ลักษณะแผล ว่า แผลใหญ่มากขนาดไหน บริเวณใด มีความลึกขนาดไหน ถึงอวัยวะสำคัญ เช่น โดนกระดูกหรือข้อหรือไม่
  • มีการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า หรือวัคซีนป้องกันบาดทะยักของผู้ที่โดนกัดเองแล้วหรือไม่ ฉีดครบไหม ฉีดครั้งล่าสุดเมื่อใด

 

การดูแลเบื้องต้น

  • ล้างแผลให้สะอาดทันที ด้วยน้ำและสบู่อย่างเต็มที่ สามารถป้องกันได้เกือบร้อยละ 90
  • อาจพิจารณาล้างด้วยโพรวิโดนไอโอดีน ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้
  • นำสิ่งแปลกปลอมออกจากแผล
  • ห้ามเย็บปิดแผล
  • แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าจำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าหรืออิมมูโนโกลบูลินหรือไม่ จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักหรือไม่
    • หากผู้ที่ถูกกัดเคยได้วัคซีนป้องกันมาก่อนแล้ว ให้ฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าวันที่โดนกัดและอีกสามวัน รวม 2 โดส
    • หากผู้ที่ถูกกัด ไม่เคยได้วัคซีนป้องกันมาก่อน
      • ✅ควรได้รับวัคซีน โดยสำหรับผู้ที่ภูมิปกติ 4 โดส ในวันที่ 0, 3, 7, 14 (คือวันแรกที่โดนกัดนับเป็น วันที่ 0)  ในขณะที่คนที่ภูมิคุ้มกันต่ำต้องได้เพิ่มเป็น 5 โดส เป็นวันที่ 28 เพิ่มเติม
      • ✅ควรได้รับอิมมูโนโกลบูลิน
    • สำหรับความจำเป็นของการฉีดยาป้องกันบาดทะยัก ขึ้นกับว่าได้รับครบมาก่อนหรือไม่ และโดสสุดท้ายฉีดนานหรือยัง ซึ่งรายละเอียดจะนำเสนอในครั้งถัดไป
  • ประเมินสัตว์เบื้องต้น
  • สุนัขหรือแมว หากไม่มีอาการในเบื้องต้น และหากเป็นไปได้ให้ขังสัตว์ไว้ดูอาการอย่างน้อย 10 วัน เมื่อมีอาการเมื่อไร ให้ยาป้องกันทันที
  • ค้างคาว สุนัขจิ้งจอก หรือ แรคคูน ซึ่งดูอาการยาก ให้ยาป้องกันทันที
  • สัตว์ชนิดอื่น ๆ เช่น หนู กระต่าย กระรอก มีโอกาสติดเชื้อพิษสุนัขบ้าน้อย ให้ปรึกษาแพทย์และนักสาธารณสุขเพื่อสังเกตอาการและประเมินเป็นราย ๆ  ไป
Question: การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเพื่อป้องกันก่อนที่จะสัมผัสเชื้อ หรือที่เรียกว่า pre-exposure prophylaxis (PrEP) สามารถป้องกันได้มากน้อยแค่ไหน
Question: การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเพื่อป้องกันก่อนที่จะสัมผัสเชื้อ หรือที่เรียกว่า pre-exposure prophylaxis (PrEP) สามารถป้องกันได้มากน้อยแค่ไหน
Answer: ปกติผู้ที่ถูกสัตว์ที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด มีโอกาสเสียชีวิตได้มากเกือบทุกราย แต่ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนป้องกันมาก่อน
Answer: ปกติผู้ที่ถูกสัตว์ที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด มีโอกาสเสียชีวิตได้มากเกือบทุกราย แต่ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนป้องกันมาก่อน
  เนื้อหาแนะนำ
เนื้อหาภายในฉบับที่ 48