All Pets Over the World: ศัพท์ทั่วโลก ที่นุดใช้เรียกไอ้ต้าวสัตว์เลี้ยง

Volume: 
ฉบับที่ 51 เดือนมกราคม 2567
Column: 
Vocab With Rama
Writer Name: 
นู๋โน โกอินเตอร์, นู๋นัน สะพายกล้อง

  

สวัสดีค่ะคุณผู้อ่าน @Rama ทุกท่าน เห็นปกฉบับนี้แล้วหลายคนน่าจะใจเหลวให้กับความน่ารักน่าเอ็นดูของเจ้าบ๊อกที่ขึ้นปกคู่กับนางแบบของเราแล้วใช่มั้ยคะ สำหรับคนรักสัตว์ทั้งหลาย สัตว์เลี้ยง (Pet: /pet/) เป็นเสมือนหนึ่งอุปกรณ์ฮีลจิตฮีลใจที่สุดแสนจะมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น น้องหมา น้องแมว น้องนก น้องปลา หรือแม้กระทั่งเหล่าสัตว์เลี้ยงประเภท Exotic pet ( /ɪɡˈzɒtɪk pet/) ใด ๆ ล้วนแล้วแต่นำซึ่งรอยยิ้ม และช่วยปลอบประโลมจิตใจให้เหล่ามนุษย์ได้เป็นอย่างดี และแน่นอนความสัมพันธ์นี้ มิได้เพิ่งเกิดขึ้นมาบนโลกยุคใหม่ แต่มนุษย์และสัตว์เลี้ยงมีประวัติศาสตร์บนโลกร่วมกันมาอย่างยาวนานแล้วนับเป็นพัน ๆ ปี แล้วล่ะค่ะ เกรเกอร์ ลาร์สัน ผู้อำนวยการเครือข่ายการวิจัยบรรพชีวินวิทยาและโบราณคดีชีวภาพของมหาวิทยาลัย oxford พร้อมทีมวิจัยของเขาได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยว่า ค้นพบหลักฐานที่แสดงว่า สุนัขเป็นสัตว์ชนิดแรก ๆ ที่มนุษย์เลี้ยงไว้เมื่อประมาณ 18,000-32,000 ปีก่อน เริ่มต้นในตะวันออกกลางและขยายออกไปอย่างรวดเร็วไปทั่วอารยธรรมของมนุษย์ ในขณะที่สัตว์อื่น ๆ อย่าง แพะ แกะ และวัว เริ่มเลี้ยงกันเมื่อประมาณ 11,000 ปีก่อน ส่วนไก่เป็นสัตว์เลี้ยงในเอเชียตะวันออกซึ่งมีการค้นพบว่าการชนไก่มีมาตั้งแต่เมื่อประมาณ 7,000 ปีก่อน ส่วนม้าถูกนำมาเลี้ยงเมื่อประมาณ 5,500 ปีที่แล้วในเอเชียกลางในฐานะสัตว์ใช้งาน ในบรรดาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง หนอนไหมและผึ้งน้ำผึ้งตะวันตกถูกเลี้ยงไว้เมื่อ 5,000 ปีก่อน

ในภาษาอังกฤษ จะใช้คำว่า Pet (/pet/) เพื่อสื่อถึงสัตว์ที่เลี้ยงกันในครัวเรือน แต่ก็มีอีกหลายคำที่มีความหมายสื่อถึงสัตว์เลี้ยงได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น Domestic animal (/dəˈmestɪk ˈænɪml/) / Fur baby (/ˈfɜː beɪbi/) / Companion animal (/kəmˈpænjən ænɪml/) หรือแม้กระทั่งคำว่า Four-legged friend (/ˌfɔː leɡɪd ˈfrend/) ซึ่งเราอาจจะแปลแบบไทย ๆ ได้ตรงตัวว่า เพื่อนรักสี่ขา ก็ได้ค่ะ สำหรับบรรดาน้องหมานั้น ศัพท์สุภาพภาษาไทยเราคุ้นเคยกับคำว่า “สุนัข” ใช่มั้ยคะ แต่ในภาษาอังกฤษ ยังมีคำที่ใช้เรียกเจ้าบ๊อกในอีกหลายแบบ ที่เราเห็นบ่อย ๆ ก็จะมีดังนี้

 Pup (/pʌp/) หรือ  puppy (/ˈpʌpi/) = ลูกสุนัข Hound (/haʊnd/) 
= สุนัขไล่เนื้อ 
Canine (/ˈkeɪnaɪn/) = มาจากคำละตินที่แปลว่าสุนัข แต่ก็สามารถแปลว่าเขี้ยว
Pooch (/puːtʃ/) 
= น้องหมาเชื่อง ๆ
Cur (/kɜː(r)/) / Mutt (/mʌt/) = สุนัขพันธุ์ทาง  นอกจากนี้ยังมีคำลำลองอย่าง Doggy/ Doggo/ Fido อีกด้วย ! 

นอกจากภาษาอังกฤษแล้ว สุนัขในวัฒนธรรมอื่น ๆ มีศัพท์เรียกต่าง ๆ กันไป ในที่นี้ขอยกตัวอย่างบางภาษานะคะ ไม่งั้นหน้ากระดาษจะไม่พอเอา ภาษาฝรั่งเศสเรียกน้องหมาว่า le chien (เลอ เชียง) ภาษาสเปนเรียก el perro (เอล เปโร) ภาษาญี่ปุ่น 犬(อินุ) หรือในภาษาพูดอาจเรียกว่า ワンちゃん (วังจัง) ภาษาจีนเรียก 狗 (โก่ว)  ภาษาเกาหลีเรียก개 (เค)

สำหรับเหล่าทาสแมว พวกคุณเองก็ต้องภูมิใจน้าาา ที่ประวัติศาสตร์การบูชา เอ้ย! การเลี้ยงน้องเหมียวนั้นก็มีมาอย่างยาวนานเช่นกัน มีบันทึกว่า แมวกลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์ครั้งแรกของโลกในซีกโลกตะวันออกใกล้ (ประเทศในบริเวณเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ระหว่างเมดิเตอร์เรเนียนไปจนถึงอิหร่าน) ช่วง 7,500 ปีก่อนคริสตกาล นอกจากนี้ในอียิปต์โบราณยังมีการเลี้ยงแมวและบูชาแมวในฐานะเทพเจ้า (เทพีบัสเตต) ซึ่งมีตัวเป็นคน แต่มีหัวเป็นแมว เป็นเทพเจ้าแห่งความรัก และความอุดมสมบูรณ์) ตั้งแต่เมื่อ 3,100 ปี ก่อนคริสตกาลเลยด้วย สำหรับในไทย เรามีศัพท์สุภาพที่สื่อถึงแมวว่า “วิฬาร์”  ในขณะที่ภาษาอังกฤษ เรียกลูกแมวว่า Kitten (/ˈkɪtn/) คำที่ใช้เรียกแมวโตยังคงใช้คำว่า Kitty (/ˈkɪti/) เพื่อสื่อถึงความน่ารักน่าเอ็นดูของน้องแมวได้ ขณะที่คำว่า Feline (/ˈfiːlaɪn/) หมายถึงสัตว์ตระกูลแมวทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเสือ สิงโต แมวป่า แมวบ้าน แมวขนาดใหญ่ที่เริ่มเป็นที่นิยมเลี้ยงกันในหมู่คนมีเงินอย่าง เซอร์วัล (serval: ) ซึ่งเป็นแมวที่มีขายาวที่สุด และคาราคัล (Caracal) หรือแมวลิงซ์ (Lynx) ที่มีใบหน้าและหูที่น่ารัก คนฝรั่งเศสเรียกน้องแมวกันว่า le chat (เลอ ชา) ภาษาสเปนเรียก el gato (เอล กาโต้) ภาษาญี่ปุ่นเรียกน้อง ๆ ว่า 猫(เนะโกะ) ภาษาจีนมีตัวเขียนแบบเดียวกับญี่ปุ่น แต่ออกเสียงว่า 猫 (เมา) ภาษาเกาหลีใช้คำว่า 고양이 (โคยังงี) 

นอกจากน้องหมาน้องแมวแล้ว สัตว์เลี้ยงแสนรักประเภทอื่น ๆ ที่เป็นที่นิยมเลี้ยงแก้เหงา ยังมีเหล่านกแสนสวยแสนรู้ (Bird: /bɜːd/) ในที่นี้ขอยกตัวอย่างคำศัพท์จากภาษาทั่วโลกที่หมายถึงนกในต่อไปนี้ค่ะ 

 ฝรั่งเศส: l’oiseau 
(ลัวโซ)
สเปน: el pájaro 
(เอล ป๊าฆ่ะโร่ะ)
จีน: 鸟 (เหนียว) ญี่ปุ่น: 鳥 (โทริ)
เกาหลี: 새 (เซ่) เยอรมัน: der Vogel 
(เด เฟอเกิล)
อิตาเลียน: l’uccello 
(ลุชเชลโล่)
เวียดนาม: chim (จิม)

สำหรับคนรักปลาทอง (Goldfish: /ˈɡəʊldfɪʃ/) ชื่นชอบในรูปร่างอ้วนป้อมและเกล็ดหลากสีสันที่ส่องประกายยามอยู่ในน้ำ ในวัฒนธรรมทั่วโลกเรียกชื่อเจ้าปลาทองด้วยภาษาต่าง ๆ ต่อไปนี้ค่ะ

 ฝรั่งเศส: le poisson rouge (เลอ ปัวซง รูจ) สเปน: el pez dorado
(เอล เป๊ส โดะราโด้)
จีน: 金鱼 (จิ้งหยู) ญี่ปุ่น: 金魚 (กิงเงียว)
เกาหลี: 금붕어 (กึม-พู-งอ) เยอรมัน: der Goldfisch  
(เด กอลด์ฟิช)
อิตาเลียน: il pesce rosso  (อิล ปิซช รอสโซ่่) เวียดนาม: cá vàng 
(ก๋า วาง)

สัตว์เลี้ยงไม่ได้มีไว้ชื่นชม หรือเพื่อคลายเหงาอย่างเดียว มีผลงานวิจัยทางการแพทย์ที่ชี้ให้เห็นว่า คนไข้โรคหัวใจที่มีสัตว์เลี้ยงมีโอกาสเสียชีวิตน้อยกว่าคนที่ไม่เลี้ยงอะไรเลยถึง 3% เนื่องจากสัตว์เลี้ยงช่วยลดความดันโลหิตให้กับเจ้าของ เหล่าสัตว์เลี้ยงยังมีส่วนช่วยให้คนเลี้ยงได้ออกกำลังกาย ละสายตาจากคอมพิวเตอร์หรือมือถือเพื่อไปออกกำลังกาย ทำให้สุขภาพของเหล่าทาสดีขึ้น ด้วยเหตุนี้! สัตว์เลี้ยงยังช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางอารมณ์ให้มนุษย์ เพราะแม้จะพูดไม่ได้ แต่ก็ไม่เคยโกหก ไม่วิจารณ์ แต่ซื่อสัตย์และเป็นเพื่อนที่จำเป็นสำหรับหลายคน รู้แบบนี้แล้ว อย่าทิ้งน้อง ๆ นะคะ รักเค้า ดูแลเค้า ให้เหมือนหนึ่งสมาชิกในครอบครัวของเรา เพราะสุดท้ายแล้ว สำหรับสัตว์เลี้ยงที่มีช่วงชีวิตสั้นกว่ามนุษย์อย่างเรา เราคือ “โลกทั้งใบ” ของเขาค่ะ

อ้างอิง :

    - Alicia Ault. At the Smithsonian. “Ask Smithsonian: When Did People Start Keeping Pets?”. [Online]. https://www.smithsonianmag.com/smithsonian-institution/ask-smithsonian-w...
    - Driscoll, C. A.; Menotti-Raymond, M.; Roca, A. L.; Hupe, K.; Johnson, W. E.; Geffen, E.; Harley, E. H.; Delibes, M.; Pontier, D.; Kitchener, A. C.; Yamaguchi, N.; O’Brien, S. J. & Macdonald, D. W. (2007). “The Near Eastern Origin of Cat Domestication”. Science. 317 (5837): 519–523. Bibcode:2007Sci...317..519D. doi:10.1126/science.1139518. ISSN 0036-8075. PMC 5612713. PMID 17600185. 
    - Languagedrops. “Terms for Pets: Talk About Your Pet in Another Language”. [Online]. https://languagedrops.com/blog/terms-for-pets
    - Larson, G (2012). “Rethinking dog domestication by integrating genetics, archeology, and biogeography” (PDF). Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 109 (23): 8878–83. doi:10.1073/pnas.1203005109. PMC 3384140. PMID 22615366. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-04-22. สืบค้นเมื่อ 2016-03-11.
    - Malek, J. (1997). The Cat in Ancient Egypt (Revised ed.). Philadelphia: University of Pennsylvania Press. 

  เนื้อหาแนะนำ
เนื้อหาภายในฉบับที่ 51