การจัดประชุมพูดคุยระหว่างทีมที่ดูแลกับครอบครัว (Family Meeting)

การจัดประชุมระหว่างครอบครัวผู้ป่วยและทีมที่ดูแล (Family Meeting)

ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ครอบครัวของผู้ป่วยนับว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการดูแล ตลอดจนมีส่วนช่วยผู้ป่วยในกระบวนการตัดสินใจเรื่องเป้าหมายของการดูแลรักษา ในครอบครัวของผู้ป่วยที่ปัญหาของโรคไม่ซับซ้อน มีการสื่อสารภายในครอบครัวที่ดี ทีมที่ดูแลกับผู้ป่วยและครอบครัวมีความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรคและแผนการดูแลรักษาที่ตรงกัน หรือการตัดสินใจเรื่องการรักษาระหว่างผู้ป่วยและสมาชิกทุกคนในครอบครัวไปในทิศทางเดียวกัน ในกรณีเหล่านี้ก็อาจจะไม่มีความจำเป็นนักที่ต้องจัดประชุมระหว่างครอบครัวผู้ป่วยและทีมที่ดูแล

อย่างไรก็ตาม หลายๆครั้งที่พบว่ามีปัญหาเกิดขึ้น เช่น ในกรณีที่ทีมที่ดูแลมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันกับผู้ป่วยหรือสมาชิกในครอบครัว ปัญหาสมาชิกในครอบครัวมีความเห็นขัดแย้งกันเรื่องเป้าหมายการดูแล เป็นต้น ในกรณีต่างๆที่กล่าวมานี้ การจัดประชุมจึงเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสซักถามหรือชี้แจงข้อสงสัยเกี่ยวกับการดูแล ตลอดจนวางแผนหรือตัดสินใจเรื่องการดูแลรักษาร่วมกัน ดังนั้นการจัดประชุมระหว่างครอบครัวผู้ป่วยและทีมที่ดูแลหรือที่เรียกว่า "Family Meeting" จึงเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่จำเป็นของผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

หลักการการจัดประชุมระหว่างครอบครัวผู้ป่วยและทีมที่ดูแล (Family Meeting)

เป้าหมายของการทำ Family Meeting คือ

  เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างทีมกับผู้ป่วยและครอบครับเกี่ยวกับตัวโรคและระยะของโรค รวมไปถึงการดำเนินโรคและการพยากรณ์โรค
  เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายหลักของการดูแลและแนวทางของการดูแลผู้ป่วยในอนาคต
  เพื่อให้ทีมได้ประเมินความต้องการด้านอื่นๆของผู้ป่วยและครอบครัวและวิธีการที่ครอบครัวใช้จัดการกับปัญหาด้านต่างๆที่เกิดขึ้น

สำหรับขั้นตอนของการทำ Family Meeting มีรายละเอียดดังนี้

1.  ขั้นตอนของการเตรียมก่อนทำ Family Meeting

  ทีมควรจะทบทวนวัตถุประสงค์ของการทำ Family Meeting ก่อนว่าต้องการอะไรจากการทำ Family Meeting
  พิจารณาว่าใครบ้างที่ควรเข้าร่วมประชุม ผู้ป่วยอยากจะเข้าร่วมประชุมด้วยหรือไม่
  ทบทวนเวชระเบียนและข้อมูลเกี่ยวกับตัวโรคของผู้ป่วย รวมทั้งตัดสินใจระหว่างสมาชิกในทีมเกี่ยวกับแนวทางการรักษา ทั้งนี้เพื่อให้ระหว่างที่พูดคุยกับครอบครัวผู้ป่วย ทีมสุขภาพที่ดูแลจะได้มีความเข้าใจตรงกัน และอธิบายสอดคล้องกัน ไม่สร้างความสับสนให้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว
  หากเป็นไปได้ ควรศึกษา Genogram และความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวก่อนทำ Family Meeting
  ตัดสินใจระหว่างสมาชิกในทีมที่ดูแลว่า ใครจะทำหน้าที่เป็น Facilitator ระหว่างการทำ Family Meeting (ไม่จำเป็นที่แพทย์จะต้องทำหน้าที่เป็นFacilitatorเสมอไป แต่อาจจะเป็นใครก็ได้ในทีมที่มีทักษะการทำFamily Meeting แพทย์อาจจะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ให้ข้อมูลในเรื่องทางการแพทย์เท่านั้น)
  กำหนดบทบาทของสมาชิกอื่นๆในทีมที่เข้าร่วมประชุมว่าต้องการให้ชี้แจงหรือตอบคำถามแก่ครอบครัวในส่วนไหน
  ชี้แจงแก่สมาชิกของครอบครัวผู้ป่วยถึงความจำเป็นและเป้าหมายของการประชุม พร้อมทั้งนัดเวลาและสถานที่ที่ทุกฝ่ายสะดวก โดยทั่วไปควรจะเผื่อเวลาไว้อย่างน้อยประมาณ 1 ชั่วโมง

2.  เมื่อเริ่มประชุม

  สมาชิกในทีมกล่าวแนะนำตัวและบอกบทบาทที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วย รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวได้แนะนำตัวเอง
  Facilitatorกล่าวสั้นๆถึงเหตุผลหลักของการทำ Family Meeting ในครั้งนี้ว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่ต้องการให้ผู้ป่วยหรือครอบครัวได้ร่วมกันตัดสินใจหรือรับทราบ
  Facilitatorกล่าวถึงกติกาของการประชุม เช่น เรียงลำดับของการแสดงความเห็นจะเป็นอย่างไร (ส่วนใหญ่เราจะให้ผู้ป่วยเป็นคนแสดงความเห็นก่อน เพราะคนอื่นๆในครอบครัวจะได้รับฟังความเห็นจากผู้ป่วย จากนั้นเรียงลำดับตามสมาชิกในครอบครัวที่มีอำนาจในครอบครัวน้อยที่สุด ไปยังสมาชิกในครอบครัวที่มีอำนาจมากที่สุด สาเหตุก็คือ หากให้สมาชิกในครอบครัวที่มีอำนาจมากกว่าคนอื่นๆพูดก่อน สมาชิกที่เหลืออาจจะไม่กล้าแสดงความคิดเห็นของตัวเอง อันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่แนะนำให้ศึกษา Genogram และความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวก่อนเข้าประชุม) แนะนำ่ให้สมาชิกคนอื่นๆ พูดจบก่อนแล้วจึงแสดงความคิดเห็น แจ้งระยะเวลาของการประชุมคร่าวๆ ให้ทุกคนได้รับทราบ

3.  ถามผู้ป่วยและครอบครัวเกี่ยวกับความเข้าใจระยะของตัวโรคและการพยากรณ์โรค

  อาจจะใช้คำถามเปิด ให้สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวได้แสดงความเข้าใจเกี่ยวกับโรคของผู้ป่วย
  เปิดโอกาสให้สมาชิกแต่ละคนได้ซักถาม แสดงความคิดเห็นและความรู้สึกเกี่ยวกับตัวโรคของผู้ป่วย
  ทีมอธิบายและตอบคำถามของสมาชิกในครอบครัวเกี่ยวกับโรคของผู้ป่วย ระยะของโรค และการพยากรณ์โรคเท่าที่ผู้ป่วยและครอบครัวอยากจะทราบ

4.  ทำความเข้าใจกับสมาชิกในครอบครัวเกี่ยวกับเป้าหมายและแนวทางการดูแล

  ถามความเห็นของสมาชิกในครอบครัวแต่ละคนเกี่ยวกับเป้าหมายของการดูแล
  ทีมอธิบายเป้าหมายของการดูแล และชี้แจงข้อสงสัยของสมาชิกในครอบครัว (ถ้ามี)
  ถามสมาชิกในครอบครัวเกี่ยวกับข้อสงสัยเรื่องแผนการดูแลในอนาคต
  ทีมอธิบายเรื่องแผนการดูแลรักษาและชี้แจงแนวทางการจัดการกับอาการต่างๆของผู้ป่วยที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
  ทีมถามความต้องการของครอบครัวด้านต่างๆ ที่อยากให้ทีมช่วยเหลือ
  ถามประเด็นเกี่ยวกับ DNR, ผู้ที่ผู้ป่วยมอบหมายให้เป็นผู้ตัดสินใจแทนหากอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้, ตัวแทนของครอบครัวที่ทีมสามารถติดต่อได้หากมีปัญหาบางอย่างที่ต้องการให้ครอบครัวร่วมตัดสินใจ, ความต้องการเกี่ยวกับพิธีกรรมทางศาสนาของครอบครัว, สถานที่ที่ผู้ป่วยต้องการเสียชีวิต เช่น อยากเสียชีวิตที่บ้านหรือที่โรงพยาบาล

5.  ประเมินวิธีการที่ครอบครัวใช้จัดการกับปัญหาด้านต่างๆที่เกิดขึ้น

  ถามเกี่ยวกับวิธีการที่ครอบครัวใช้จัดการกับปัญหาด้านต่างๆ ที่ผ่านมา
  ประเมินจุดแข็งของครอบครัวในการรับมือกับปัญหาและชี้ให้ครอบครัวเ็ห็นจุดแข็งของตนเอง
  ประเมินว่ามีสมาชิกในครอบครัวคนใดที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษหรือไม่ เช่น มีภาวะซึมเศร้า มีปัญหาทางด้านการเงิน อาชีพการงาน เป็นต้น 

6.  สรุปและปิดการประชุม

  เปิดโอกาสให้สมาชิกในครอบครัวได้ซักถามในประเด็นที่ทีมยังไม่ได้ตอบ
  สรุปสั้นๆเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่ได้พูดคุยกันในวันนี้ รวมทั้งแผนการดูแลผู้ป่วยในอนาคต
  กล่าวขอบคุณทุกคนที่เข้าร่วมประชุม

ที่สำคัญหลังการประชุมระหว่างทีมและครอบครัวของผู้ป่วยทุกครั้ง ควรจดบันทึกสิ่งที่ได้พูดคุยกันระหว่างประชุมในประเด็นที่สำคัญอย่างละเอียดลงในเวชระเบียน และเปิดโอกาสให้สมาชิกแต่ละคนในทีมที่ดูแลได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการประชุมเพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาการจัดประชุมในครั้งต่อไป

Reference:

  1. Dumont I, Kissane D. Techniques for framing questions in conducting family meetings in palliative care. Palliat Support Care2009 Jun;7(2):163-70.
  2. Gueguen JA, Bylund CL, Brown RF, Levin TT, Kissane DW. Conducting family meetings in palliative care: themes, techniques, and preliminary evaluation of a communication skills module. Palliat Support Care2009 Jun;7(2):171-9.
  3. Hudson P, Quinn K, O'Hanlon B, Aranda S. Family meetings in palliative care: Multidisciplinary clinical practice guidelines. BMC Palliat Care2008;7:12.
  4. Hudson P, Thomas T, Quinn K, Aranda S. Family meetings in palliative care: are they effective? Palliat Med2009 Mar;23(2):150-7.

 

อ.นพ.กิติพล นาควิโรจน์